จากกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดย พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และในฐานะรักษาราชการแทน รอง ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมกับคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำหรับเตรียมความพร้อมรับตัวนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด ผู้ต้องหารายสำคัญซึ่งหลบหนีไปจากสถานคุมขัง รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ขณะอยู่ระหว่างนอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.66 รวมระยะเวลา 222 วัน ก่อนที่ทางการไทยภายใต้การกำกับติดตามของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้รับการประสานจากทางการอินโดนีเซีย ยืนยันสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเชีย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมรับส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากเจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย ณ ท่าอากาศยานนานาชาตินครศรีธรรมราช ในวันอังคารที่ 4 มิ.ย. เวลา 14.00 น. ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงภายในกระทรวงยุติธรรมว่า สำหรับกระบวนการรับตัวฝากขังในเรือนจำของนายเชาวลิต ทองด้วง หรือแป้ง นาโหนด ณ ตอนนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะนำตัวไปฝากขังไว้ยังเรือนจำความมั่นคงสูงแห่งใด เนื่องจากทั้งหมดอยู่ในส่วนการพิจารณาของ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ทราบว่าทางกรมราชทัณฑ์อยู่ระหว่างการสรุปผลให้ครอบคลุมและคำนึงถึงความปลอดภัยต่าง ๆ ว่าควรนำตัวไปคุมขังยังสถานราชทัณฑ์ใด

ส่วนกรณีตามหลักการควบคุมตัวผู้ต้องหากลับมาคุมขังยังเรือนจำฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีออกจากสถานคุมขังนั้น แหล่งข่าว อธิบายว่า ตามปกติแล้วจะต้องมีการนำตัวผู้ต้องขังไปควบคุมไว้ยังห้องกักโรคโควิด-19 ระยะเวลา 5 วัน แต่ในกรณีของ นายเชาวลิต ทองด้วง เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังที่เคยมีพฤติกรรมสร้างสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าเจ็บป่วยในเรื่องของทันตกรรมและต้องออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำฯ เพื่อก่อเหตุหลบหนี รวมถึงเมื่อครั้งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียจับกุมตัวก็มีการแสดงท่าทีลักษณะแกล้งเป็นใบ้ จึงเป็นเหตุผลทำให้ผู้บัญชาการเรือนจำอาจจะต้องมารับผิดชอบควบคุมตัว นายเชาวลิต โดยเฉพาะการประเมินถึงความเสี่ยงและความปลอดภัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ในห้วงระยะเวลา 5 วัน ที่เจ้าตัวอยู่ในห้องแยกกักโรค เจ้าหน้าที่พยาบาลประจำเรือนจำฯ หรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จะต้องดูว่านายเชาวลิตมีลักษณะอาการอย่างไร มีการแสดงพฤติกรรมต่อภายนอกอย่างไร เช่น มีพฤติกรรมความเครียดที่สูงกว่าปกติ หรือมีพฤติกรรมการแสดงออกก้าวร้าวหรือไม่ รวมถึงจะต้องมีนักจิตวิทยาประจำเรือนจำฯ ทำการประเมินสุขภาพจิตใจด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลทำให้ผู้ต้องขังเกิดความเครียดได้

แหล่งข่าวยังอธิบายด้วยว่า นอกเหนือจากการแยกกักโรค-19 และสังเกตพฤติกรรมของผู้ต้องขังแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะต้องมีการพิจารณาถึงความปลอดภัยของตัวผู้ต้องขังและความปลอดภัยของผู้ต้องขังรายอื่น ๆ อย่างเช่นในกรณีที่หากเรือนจำแห่งนั้นมีเครือข่ายเดิมของผู้ต้องขังอยู่แล้ว หรือมีคู่กรณีอยู่ด้วย ก็อาจจะส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย หรืออาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำได้ ในส่วนนี้จึงเป็นประการสำคัญที่ทางกรมราชทัณฑ์จะต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะอย่างที่สังคมรับทราบกัน ไม่มีใครต้องการให้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในเรื่องกระบวนการยุติธรรมของประชาชน

แหล่งข่าว เสนอมุมมองเพิ่มเติมด้วยว่า ในกรณีของนายเชาวลิต เนื่องจากเจ้าตัวมีคดีที่เกิดขึ้นในอดีตอยู่ตามท้องที่ต่างจังหวัดทางภาคใต้ และเเม้บางคดีจะมีคำพิพากษาตัดสินถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม ดังนั้น ในกรณีล่าสุดที่มีการก่อเหตุหลบหนีออกจากสถานคุมขัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา จะเป็นเหตุทำให้การสอบสวนพิจารณาคดีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ หรือชั้นศาล จะอาจจะมีกระบวนการทางคดีอาญาที่มากกว่าผู้ต้องขังรายอื่นๆ เพราะต้องไปดูในเรื่องที่เจ้าตัวร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ อีกด้วย.