นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท. ยังไม่ได้เข้าบริหารจัดการท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ได้แก่ อากาศยานอุดรธานี, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ เนื่องจากต้องรอให้ทั้ง 3 สนามบินได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ก่อน ซึ่งปัจจุบัน ทย. อยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตามเมื่อ ทอท. ได้รับสิทธิ์เข้าไปบริหารจัดการแล้ว ทอท. ยังคงพร้อมลงทุนพัฒนาสนามบินตามกรอบวงเงินเดิม 10,360 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน และพัฒนาศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารต่อไป

นายกีรติ กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม ได้หารือร่วมกันถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ ทอท. เข้าบริหารจัดการท่าอากาศยาน ของ ทย. อีก 25 แห่ง จากทั้งหมดที่เหลืออีก 26 แห่ง ยกเว้นท่าอากาศยานตาก ซึ่งเป็นสนามบินที่ไม่ได้ใช้งานให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ เพื่อลดภาระงบประมาณที่รัฐต้องจัดสรรให้ ทย. ในการนำไปใช้บริหารจัดการสนามบินปีละประมาณ 3-4 พันล้านบาท โดยมอบให้ ทอท. ไปดำเนินการศึกษา และวิเคราะห์รูปแบบ รวมถึงแนวทางบริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทย. ที่เหลือทั้งหมด ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาฯ ประมาณ 6 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปรายละเอียดการต่างๆ รวมถึงจะเข้าบริหารสนามบินใดเพิ่มเติมบ้างภายในปลายปี 67 

นายกีรติ กล่าวอีกว่า เบื้องต้น ทอท. มีแนวทางจะเสนอจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อบริหารจัดการสนามบินของ ทย. โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นโดย ทอท. และหน่วยงานของรัฐ เพื่อรับบริหารทรัพย์สินของรัฐ อาทิ กองทุนรวมวายุภักดิ์ เพื่อให้มีความคล่องตัวทางการเงิน และไม่กระทบกับ ทอท.โดยตรง ซึ่ง ทอท. ไม่เห็นด้วยให้สนามบินมารวมอยู่ที่ ทอท. ทั้งหมด เพราะจะทำให้ ทอท. อุ้ยอ้าย จึงต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้สนามบิน ทย. ที่ ทอท.จะเข้าไปบริหารจัดการอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่า 3 สนามบินแรกจะให้อยู่กับ ทอท. หรือบริษัทลูก คาดว่าจะได้ข้อสรุปปีนี้

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลมีนโยบายให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทย. ทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความว่า ทอท. ต้องรับครบทั้งหมด เพราะต้องวิเคราะห์ด้วยว่า สนามบินนั้นๆ เมื่อรับบริหารจัดการแล้ว สามารถทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ทอท. ต้องตอบผู้ถือหุ้นด้วย แต่จากการพิจารณาเบื้องต้น ทุกท่าอากาศยานมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อาทิ ท่าอากาศยานขอนแก่น, ตรัง, นครศรีธรรมราช, แพร่, น่าน และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากที่ทราบข้อมูลพบว่า ทุกวันนี้ ทย. นำรายได้จากท่าอากาศยานกระบี่ไปใช้ในการบริหารจัดการท่าอากาศยานอื่นๆ ที่เหลือ ดังนั้นหาก ทอท. รับท่าอากาศยานมาทั้งหมด ก็ต้องหารือกันใหม่เรื่องเงินชดเชยเข้ากองทุนเงินทุนหมุนเวียน ทย. 

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ 3สนามบินแรก ทอท. จะชดเชยรายได้ที่ ทย. เคยได้รับจากท่าอากาศยานกระบี่เข้ากองทุน ทย. ซึ่ง ทย. เคยได้เท่าใด ทอท. จะชดเชยให้เท่าที่ได้รับ อาทิ ปีละ 200 ล้านบาท ก็ชดเชย 200 ล้านบาท สามารถดำเนินการได้เลย แต่เมื่อเวลานี้ ทอท. ต้องรับท่าอากาศยานอื่นๆ มาด้วย ก็ไม่ควรต้องชดเชย เพราะ ทอท. ต้องหารายได้มาบริหารอีก 3-4 พันล้านบาท จากเดิมที่ ทย. ได้รับจากรัฐปีละ 3-4 พันล้านบาท เพื่อไม่ให้ผลประกอบการท่าอากาศยานขาดทุน ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหมดเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป  

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภารกิจของ ทย. ภายหลังจาก ทอท. เข้าบริหารสนามบินแทน ทย. จะเป็นอย่างไร นายกีรติ กล่าวว่า เบื้องต้น ทย. จะทำหน้าที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนามบินใหม่เป็นหลัก และให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาบริหารจัดการ รวมทั้งพัฒนา และขยายขีดความสามารถของสนามบินในอนาคต ส่วนบุคลากรของ ทย. มี 2 แนวทาง คือ 1.โอนย้ายกลับไปยังกระทรวงคมนาคม และ 2.สมัครเข้าเป็นพนักงานของบริษัทลูกของ ทอท.