วันที่ 3 มิ.ย. นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงเศรษฐกิจไทย “ฟื้นตัว” หรือ ส่งสัญญาณ “ชะลอตัว” กับประเด็น “เศรษฐกิจฐานราก ติดกับดักหนี้” ทั้งหนี้ครัวเรือน 91% ของ GDP หนี้เสียและหนี้เฝ้าระวังกว่า 1.66 ล้านล้านบาท หนี้นอกระบบที่เข้าถึงง่ายกว่าสถาบันการเงินในระบบส่งผลให้เบ่งบานในทุกระดับช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 40-60 ปีขึ้นไปที่มีหนี้นอกระบบสูงถึงเฉลี่ย 43% หากพิจารณาช่วงอายุนี้พบมีจำนวนประชากร 20.5 ล้านคนจะเป็นหนี้นอกระบบถึง 8.815 ล้านคน และอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปสูงที่สุด 47% ของกลุ่มตัวอย่าง

มีจำนวนประชากรตามข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ 13.4 ล้านคน หรือ ราว 6.298 ล้านคน เป็นหนี้นอกระบบ และหากจำแนกตามอาชีพพบว่ากลุ่มค้าขาย กิจการส่วนตัว อาชีพอิสระ พบเป็นหนี้นอกระบบเฉลี่ย 46% ของกลุ่มตัวอย่าง ตามมาด้วยกลุ่มเกษตรกร 41% กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 41% และกลุ่มพนักงานเอกชน รับจ้างและลูกจ้าง 37% ตามลำดับ

ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนเป็นหนี้นอกระบบสูงราว 46% จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ข้างต้นนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของ สสว. กับการเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอี พบว่า 53% เข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน 11% ใช้แหล่งทุนทั้งในและนอกระบบร่วมกัน และ 36% ใช้แหล่งทุนนอกระบบ ซึ่งหากพิจารณาจำนวนเอสเอ็มอีไทย 3.2 ล้านราย จะประเมินได้ว่าเอสเอ็มอีในกลุ่มใช้แหล่งทุนนอกระบบราว 1.152 ล้านราย

นอกจากนั้นเอสเอ็มอี 48% มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ และเอสเอ็มอี 92% ต้องการแหล่งทุนมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเป็นทุนหมุนเวียนกิจการ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวและบริการจะได้รับปัจจัยบวกกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่นั่นเป็นสัดส่วนราว 17% ของ GDP ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมผลิต การส่งออกที่สัดส่วนราว 50% ของ GDP ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันทางการค้าในกลุ่มประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ได้เปรียบ อาทิ ประเทศเวียดนามที่ใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีมากกว่าประเทศไทยถึง 35 ประเทศ และทั้งสองประเทศมี FTA เหมือนกัน 18 ประเทศ

ภาคธุรกิจเกษตรไทยแม้จะมีปัจจัยบวกด้านราคา แต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อคุณภาพและผลผลิตตามไปด้วย รวมทั้งการแข่งขันของคู่แข่งอื่นๆ หากเราไม่เร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ พัฒนาคนควบคู่แหล่งทุนต้นทุนต่ำ ผลักดันให้ภาคเอกชนมุ่งสู่ Green Productivity Innovation Driven Enterprises (GPIDEs) คือ การมุ่งสู่การยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจคาร์บอนต่ำที่มีผลิตภาพและใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจสร้างความยั่งยืน และยกระดับแรงงานที่สร้างมูลค่าเพิ่ม มีผลิตภาพที่สูงขึ้นควบคู่ไปด้วย GDP เป้าหมายของไทย ปี 2567 ขยายตัวเกิน 3% ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมและเราจะทำได้ดีกว่าที่ตั้งเป้าไว้แน่นอนด้วยการมุ่งสู่ “เศรษฐกิจยั่งยืนที่ต้องลงมือทำร่วมกันด้วยความสามัคคี”