ผลการศึกษาล่าสุดของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในวารสาร  Nature Communications สรุปได้ว่า การรับประทานอาหารแบบเน้นโปรตีนและจำกัดเวลารับประทานระหว่างวัน จะส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้ ช่วยปรับปรุงอัตราเผาผลาญอาหารของร่างกายและช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่าวิธีการแบบนับแคลอรีจากอาหารที่รับประทานเข้าไป

การวิจัยดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมโครงการเพศหญิง 27 คน เพศชาย 14 คน ทั้งหมดมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วนและถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจและมีการจำกัดแคลอรีของอาหารที่รับประทานเข้าไป ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็มีการจำกัดแคลอรีของอาหาร แต่ทำไปพร้อมกับการจำกัดเวลารับประทานของแต่ละวันหรือทำ IF (Intermitten Fasting) รวมทั้งมีการแบ่งรับประทานอาหารประเภทโปรตีนเป็นช่วง ๆ

ทีมวิจัยจะคอยจับตาดูผู้ร่วมการวิจัยทั้ง 2 กลุ่มเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว, องค์ประกอบของร่างกาย (เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ กระดูก), แบคทีเรียในลำไส้ และสภาพการเผาผลาญอาหารเพื่อให้พลังงานของร่างกาย

ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ 2 ซึ่งมีการจำกัดเวลารับประทานอาหารและแบ่งช่วงรับประทานโปรตีนร่วมด้วยนั้น สามารถลดอาการผิดปกติของระบบลำไส้ลงได้อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีปริมาณแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังลดน้ำหนักและปริมาณไขมันในร่างกายได้มากกว่าอีกกลุ่ม

กลุ่มที่ทำ IF สามารถลดน้ำหนักจากเดิมได้ในอัตราเฉลี่ย 8.81% ขณะที่กลุ่มแรกซึ่งจำกัดแคลอรีเพียงอย่างเดียว สามารถลดน้ำหนักจากเดิมได้ในอัตราเฉลี่ย 5.4% นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในเชิงลบต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย

ทีมวิจัยชี้ว่า การทำ IF ช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ ซึ่งช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นและช่วยควบคุมน้ำหนักตัวและปรับปรุงระบบเผาผลาญอาหารได้ ขณะที่การเพิ่มระดับของสารอาหารพวกโปรตีนในเลือดเป็นระยะ ๆ ก็ช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดีขึ้น

จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้จะส่งผลกระทบต่อวิธีที่ร่างกายเก็บสะสมไขมัน ช่วยปรับสมดุลของระดับกลูโคสและตอบสนองต่อฮอร์โมนหลายชนิดที่มีผลต่อความรู้สึกหิวหรืออิ่มของคน ถ้าหากจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้ขาดหายไป ก็อาจจะทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ มีอาการดื้ออินซูลิน น้ำหนักตัวเพิ่ม ระบบเผาผลาญอาหารผิดปกติ

แม้ IF จะมีประโยชน์เกี่ยวกับการลดน้ำหนักหลายประการ ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจ ทำให้ร่างกายมีการอักเสบต่าง ๆ น้อยลงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกัน แต่ทีมวิจัยก็ยังคงเคลือบแคลงต่อประโยชน์จากการทำ IF เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ มีกรณีศึกษาที่เผยว่า ผู้ที่ทำ IF ในสูตรที่จำกัดเวลารับประทานอาหารน้อยกว่า 8 ชม. ต่อวัน มีโอกาสจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนที่จำกัดเวลารับประทานอาหารไว้ที่ 12-16 ชม. ต่อวัน

นอกจากนี้ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านชี้ว่า การทำ IF ไม่ได้เหมาะสมกับทุกคนเสมอไป โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต, โรคเบาหวาน, โรคนิ่ว, โรคกรดไหลย้อน หากคิดจะจำกัดเวลารับประทานอาหาร ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เสียก่อน

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES