ในแง่ของการดำเนินธุรกิจ หากมองย้อนกลับไปในอดีต ราว ๆ 10-15 ปีก่อนหน้า จะพบว่าองค์กรธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับผลกำไร หรือผลประกอบการเป็นหลัก ต่างจากปัจจุบัน ที่องค์กรยุคใหม่กำลังตระหนักว่า ‘ความเท่าเทียม’ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของจริยธรรมเท่านั้น ทว่ายังส่งผลดีต่อธุรกิจโดยตรง

ประกอบกับการที่คนในสังคมให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเท่าเทียมมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริม ‘วัฒนธรรมองค์กรอันเท่าเทียม’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ดีเอเอ็นองค์กร’ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความสำเร็จทั้งจากภายในและภายนอกได้อย่างแท้จริง 

เช่นเดียวกันกับ ‘ยืดเปล่า’ (YUEDPAO) แบรนด์ขวัญใจมหาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ออกแถลงการณ์เนื่องในเดือน Pride Month’ เพื่อหวังรณรงค์ให้ทุกวันเป็นวัน ‘Pride Day’ ที่ทุกคนสามารถยืดอกภูมิใจในตัวเองได้อยู่เสมอ ภายใต้แนวคิด ‘Pride ได้ทุกเดือน ยืดได้ทุกวัน’ 

โดยประเด็นเรื่องความหลากหลาย นับว่าเป็นสิ่งที่ ‘ยืดเปล่า’ สื่อสารมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอดหลายปี อาทิ โครงการ ‘The Art of Diversity’ ที่นำเสนอความหลากหลายของสังคม ไปพร้อมกับการผลักดันประเด็นในความเท่าเทียมผ่านเสื้อยืด ด้วยการตีความจากความหมายของเฉดสีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม หรือปัญหาที่หลากหลายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงศิลปะ การสร้างผู้นำที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพจิตของแรงงาน

การเข้าไม่ถึงการพัฒนาสุขภาพของเด็กในชุมชนแออัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกละเลย รวมถึงความหลากหลายด้านอื่น ๆ ที่อาจถูกมองข้ามในสังคม นำเรื่องราวเหล่านี้มาตีความร่วมกับองค์กรที่ขับเคลื่อนสังคม ออกแบบมาเป็นคอลเลคชั่นเสื้อในรูปแบบใหม่ และแบ่งกำไรจากการขายให้กับองค์กรที่ร่วมมือกัน เพื่อนำไปต่อยอดในการช่วยเหลือสังคมต่อไป

“สิ่งที่เราตั้งใจสื่อสารมาตลอด คือต้องการสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายในสังคม โดยภายในองค์กรของเราเองก็มีการสร้างวัฒนธรรม และการทำงานที่พร้อมเปิดรับคนรุ่นใหม่ที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังพยายามจะขยายแนวความคิดนี้ไปยังสังคมภายนอก ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโฆษณา, เสื้อยืด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนการผลักดันกิจกรรมในการพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่ความเท่าเทียม ยืดเปล่า เป็นเพียงหนึ่งกระบอกเสียง และแรงสนับสนุนเล็กๆ แต่เราเชื่อในพลัง และศักยภาพของคนตัวเล็กเสมอว่าจะสามารถยืดขยายสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้” ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว เจ้าของแบรนด์ ยืดเปล่า กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ อย่าง ‘นโยบายองค์กรที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในความหลากหลาย’ มีด้วยด้วยกัน 10 ข้อ ดังนี้ 1. ลาทรานส์ฟอร์ม ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพใด สามารถลาได้สูงสุด 30 วัน พร้อมรับค่าจ้างปกติ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิต 2. ลารับบุตรบุญธรรม สำหรับคู่รักทุกเพศ รวมถึง LGBTQIA+ ที่จะจดทะเบียนสมรส สามารถใช้วันลาสำหรับไปรับบุตรบุญธรรม พร้อมมีของขวัญรับขวัญบุตร เพื่อให้ครอบครัวของคุณสมบูรณ์แบบ 3. วันลาสมรสสุดเก๋ ทุกเพศสามารถลาวันสมรสพร้อมรับเงินขวัญถุงในวันแต่งงาน โดย ‘ไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนสมรส’

4. ลาพักใจ สามารถลพักใจเพื่อฟื้นฟูตนเอง พร้อมรับค่าจ้างตามปกติ 5. ลาห่วงใยคนรัก โดยสามารถลาเพื่อดูแลครอบครัว คนรัก หรือสัตว์เลี้ยงที่ป่วยได้ พร้อมรับค่าจ้างตามปกติ 6. พ่อจ๋าลาคลอด คุณพ่อสามารถลาเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรได้สูงสุด 10 วัน พร้อมรับค่าจ้างตามปกติ 7. ลาสงบจิตใจ ลาพิเศษสำหรับพนักงานที่นับถือศาสนาอื่น ๆ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา

8. ลาพัฒนาทักษะ โดยสามารถลาเพื่อการศึกษาและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อเสริมศักยภาพในการทำงาน 9. นโยบายส่งเรียน ส่ง Up skill Gen AI & Digital Skill สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้าน AI และทักษะดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพในการทำงานและพัฒนาอาชีพ และ 10. สิทธิ์เบิกค่าหนังสือ Bookworm โดยพนักงานทุกคนมีสิทธิ์เบิกค่าหนังสือเดือนละ 1 เล่ม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

“นโยบายของยืดเปล่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ผมอยากจะทำเพื่อพนักงานของ ผม เราเป็นหนึ่งบริษัทเล็ก ๆ ที่ร่วมส่งเสริม และผลักดันสวัสดิการที่ทำให้พนักงานมีความสุข และในอนาคต ผมอยากให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายใหม่ ๆ เพื่อสวัสดิการของตัวพวกเขาเอง เพื่อให้พวกเขาได้ยืด ได้ภูมิใจว่านโยบายเหล่านี้มาจากพวกเขาเพื่อพวกเขา” ทนงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ‘ความเท่าเทียม’ ถือเป็นสิ่งที่ ‘จำเป็นต้องทำ’ สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการประสบความสำเร็จในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว องค์กรที่สามารถส่งเสริมวัฒนธรรมที่เท่าเทียม ย่อมมีโอกาสดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร และส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถสำหรับการแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้