จากการรายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 1 ปี 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอบทความเรื่อง มุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย พบข้อมูลว่า คนไทยสูงกว่า 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยในปี 2565 มีสัดส่วนของผู้ที่ยื่นแบบฯ เพียง 35.7% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด

ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แบ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นมากถึง 50.5% และไม่เข้าข่ายต้องยื่นภาษี 13.8% เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือเป็นผู้ว่างงาน/อยู่ระหว่างการศึกษาที่ไม่มีเงินได้  หากพิจารณากลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ ในปี 2565 และกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ยื่น พบลักษณะที่แตกต่างกัน คือ กลุ่มที่ยื่นแบบฯ ในปี 2565 อยู่ที่ 60% เป็นกลุ่ม Gen Y และมากกว่าครึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

รวมถึงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ โดยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนมากที่สุด รองลงมาเป็นอาชีพที่อยู่ในองค์กรของภาครัฐ ซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 27,827 บาทต่อคนต่อเดือน และกว่า 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย

ขณะที่กลุ่มที่เข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ยื่น กระจายอยู่ในกลุ่ม Gen X Gen Y และ Baby Boomer ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. โดยเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มแรก โดยอยู่ที่ 12,115 บาทต่อคนต่อเดือน อีกทั้งยังมีสถานะการเงินที่ไม่มั่นคง โดย 55.5% มีรายได้เท่ากับรายจ่าย และ 31.3% มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ขณะเดียวกันมากกว่าครึ่งมีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

สาเหตุคนไทยไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะอะไร?

  • ความรู้เรื่องภาษีต่ำ
    เมื่อพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่าภาพรวมคนไทยมีความรู้ในระดับต่ำ โดยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย และกว่า 65.6% ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี อีกทั้งมากกว่าไม่ทราบว่า หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี
  • ทัศนคติการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม
    ด้านทัศนะความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา อาทิ ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุมให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลักเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไปไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
  • ความเต็มใจในการยื่นภาษี
    ทั้งนี้เมื่อพิจารณาความเต็มใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่าประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษีหากมีรายได้ถึงเกณฑ์ หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น/มากขึ้น อย่างไรก็ตามยังพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบๆ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ 
  • ปัจจัยจูงใจให้คนไทยยื่นภาษี
    สำหรับปัจจัยที่จูงใจให้คนไทยยี่นแบบฯ พบว่า กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสาร/หลักฐานเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษี คือ การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า

“สภาพัฒน์” เสนอจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้ 

1.การสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประชาชน ตั้งแต่วัยเด็ก และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย 

2.การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการนำภาษีไปใช้ของรัฐ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษี โดยการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินนโยบายและการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายที่เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และการสื่อสารสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ 

3.การมีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ อาจพิจารณาการยกเว้นหรือลดบทลงโทษต่างๆ รวมถึงมีมาตรการจูงใจอื่น 

4.การตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจมีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่จงใจทำผิดเป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว

5.การอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯ ซึ่งหากพัฒนาระบบให้สามารถประมวลผลข้อมูลรายได้จากแหล่งต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีบุคลากรคอยสนับสนุนและช่วยเหลือในแต่ละกระบวนการ 

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความพร้อมและความรู้สึกสบายใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและจะเป็นผลดีในระยะยาวสำหรับการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต จากการมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)