เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. จากกรณีตาบุญส่ง สนเสริม อายุ 86 ปี อยู่บ้านเลขที่ 141 หมู่ 16 ต.นาบ่อคำ อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการรัฐปลูกป่ากับกรมป่าไม้ เมื่อปี 2537 จนเวลาผ่านมา 30 ปี ไม้ที่ปลูกยังไม่สามารถดำเนินการตัดใช้ประโยชน์หรือขายได้ บ้านก็จะล้มพัง ที่ดินดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะปลูกพืชไร่ พืชสวนทำกินได้ จนทำให้เกิดความเดือดร้อน สร้างความขมขื่นมาเป็นเวลานาน แม้ว่าที่ผ่านมาได้พยายามเดินเรื่องเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแลช่วยเหลือทุกขั้นตอน จนตอนนี้เงินหมดตัว ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านของตาบุญส่งได้พบนายสุภวัฒน์ สมหารวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาบ่อคำ ซึ่งเดินทางมาพบปะพูดคุยและเยี่ยมครอบครัวของลุงบุญส่ง รวมทั้งขึ้นไปดูอาการของนายสุขใจ สนเสริม อายุ 40 ปี บุตรชายของนายบุญส่งที่พิการจากการประสบอุบัติเหตุเดินไม่ได้มามากกว่า 20 ปีแล้ว

ตาวัย 86 ชีวิตสิ้นหวัง ร่วมปลูกป่าโครงการรัฐ แต่ตัดไม้ไม่ได้ 30 ปีหมดตัวแล้ว!

ตาบุญส่ง เล่าว่า ถ้าไม่เข้าร่วมโครงการแต่ทีแรก ในแต่ละปีคงมีรายได้จากการปลูกพืชไร่พืชสวนบนพื้นที่ 14 ไร่ ปีๆ หนึ่งก็แสนกว่าบาท พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้อย่างสบาย แต่พอเข้าร่วมโครงการแล้ว พื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถทำอะไรได้เลย นอกจากรอคอยความหวังเพียงอย่างเดียว สำหรับโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่านั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2537 โดยกรมป่าไม้ได้ออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่าคือ ต้องมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือหนังสือรับรองของทางราชการว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ในระหว่างดำเนินการหรือออกหนังสือแสดงสิทธิที่ทำกิน เช่น หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในพื้นที่ ส.ป.ก. หรือที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์หรือนิคมสร้างตนเอง โดยมีหนังสือรับรองของทางราชการหรือที่ดินในเขตป่าสงวนที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย และที่ สทก.

การที่จะเข้าร่วมโครงการได้นั้น กรมป่าไม้ยังได้ออกระเบียบว่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศให้เกษตรกรที่ประสงค์ปลูกป่าเพื่อขอรับเงินสนับสนุนตามโครงการยื่นต่อนายอำเภอแห่งท้องที่ เมื่อได้รับคำขอแล้ว ให้ป่าไม้อำเภอหรือเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอตรวจสอบคำขอเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนแล้วลงทะเบียนรับคำขอตามลำดับ พร้อมกับออกไปตรวจสอบและทำรายงานเกี่ยวกับสถานที่ตั้งสภาพและขนาดของที่ดินเสนอไปอำเภอท้องที่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วให้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายรับขึ้นทะเบียนปลูกป่า ต่อจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะรวบรวมจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนที่ดินเพื่อปลูกป่าตามโครงการในท้องที่จังหวัดรายงานให้อธิบดีกรมป่าไม้รับทราบภายใน 45 วัน โดยหลักเกณฑ์ในขณะนั้นมีนายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้ลงนาม ซึ่งทุกอย่างจะมีเจ้าหน้าที่ลงมาอธิบาย ประชุม ตรวจสอบตามขั้นตอน ตนเองพร้อมชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยได้ดำเนินการตามที่กรมป่าไม้แจ้งทุกประการ

“ตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้หรือเรียกร้องการขออนุญาตทำประโยชน์กับไม้ที่ปลูก ทุกคนเข้าใจในเจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติภายในพื้นที่ ที่เข้าใจปัญหาและพยายามอยากจะให้เกษตรกรได้ตัดและใช้ประโยชน์ของไม้ที่ปลูก เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แต่กระบวนการและขั้นตอนของทางราชการค่อนข้างที่จะยุ่งยากมาก อันเนื่องมาจากหลังจากที่ปลูกได้ไปซักระยะเวลาหนึ่ง ได้มีประกาศยกเลิกพื้นที่ทำกินดังกล่าวโดยชาวบ้านไม่ทราบ จึงกลายเป็นภาระหรือความทุกข์ที่ตกอยู่กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ บางคนแอบลักลอบตัดไปแล้วก็มี บางคนรอคอยและเสียชีวิตไปก็หลายคน ส่วนของตนเองนั้นวันนี้คงรอความหวังว่าทางการจะอนุญาต เพื่อที่จะนำเอาเงินมาซ่อมแซมบ้านหรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ลองคิดดูว่าพื้นที่ดังกล่าวถ้าให้คนอื่นเช่าทำกินหรือปลูกมันสำปะหลังปีหนึ่งก็พอที่จะมีรายได้ใช้จ่ายอย่างไม่เดือดร้อน” ตาบุญส่ง กล่าว

ด้านนายสุภวัฒน์ สมหารวงศ์ นายก อบต.นาบ่อคำ อ.เมืองกำแพงเพชร กล่าวว่า ในเบื้องต้นตนเองได้สอบถามไปยังนายดำรงค์ บัวเผง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า กพ.7(เขาวังเยี่ยม) แจ้งว่าพื้นที่ของลุงบุญส่งนั้นได้ผ่านการสำรวจแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานป่าไม้ตาก เขต 4 เพื่อเสนอตามขั้น ส่วนเรื่องบ้านที่ทรุดโทรมของลุงนั้น เบื้องต้นจะได้ตรวจสอบสิทธิในการช่วยเหลือของท้องถิ่น ว่าจะใช้สิทธิผู้สูงอายุมาดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมโดยจะได้ไปดูว่าจะเข้าหลักเกณฑ์ใดบ้าง ส่วนการช่วยเหลือผู้พิการนั้น เบื้องต้นทาง อบต.ได้มาดำเนินการนำวัสดุมาปลูกบ้านซ่อมแซมให้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกัน แต่บุตรชายขออยู่บ้านไม้หลังเดียวที่พ่อแม่เพื่ออาศัยดูแล เนื่องจากตนเองไม่สามารถที่จะเดินไปไหนมาไหนได้

ส่วนนายเรืองเดช ร่วมชัยภูมิ หนึ่งในแกนนำของกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อน กล่าวว่า ตนได้รับแจ้งจะมาที่สำนักงานป่าไม้ตากเขต 4 ว่า พื้นที่ของลุงบุญส่ง คงมีโอกาสได้ตัดแต่คงจะต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน ที่เริ่มจากการสำรวจพื้นป่าที่ปลูกของป่าไม้ แล้วส่งให้ที่ดินจังหวัดทำเข้าโครงการ คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานสำนักงานจังหวัดจัดประชุมเห็นชอบ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงนามส่งเรื่องไปยังกรมป่าไม้ กรมป่าไม้จะส่งต่อให้กรมที่ดินเพื่อออกสมุดการใช้สิทธิและส่งคืนให้จังหวัด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นพอที่จะเห็นแนวทาง แต่ก็ยังไม่เห็นปลายอุโมงค์ว่าเกษตรกรจะได้รับสิทธิเมื่อไรแน่นอน.