ซึ่งเป็นโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม มุ่งสร้างรายได้แบบพึ่งพาตัวเอง เพื่อประโยชน์สุขของครอบครัวในชุมชนช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่ ให้โอกาสคนในชุมชน รวมทั้งการจ้างงานผู้สูงอายุ ให้มีรายได้เพิ่ม

สำหรับโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคมม่อนแบรี ตั้งอยู่บนดอยโป่งแยง ใกล้ม่อนแจ่ม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนรักวัยเด็ก 5 คน คือ ดร.นัท หรือ ดร.ธัญญวัฒน์-แสงอาภา เกษมสุวรรณ, ดร.ณัฐพล อัษฎาธร และ คุณเล็ก ภรรยา และ อเล็กซ์ซานเดอร์ สรรประดิษฐ์ แล้วจดทะเบียนจัดตั้งชื่อ บริษัท เบอร์รี่ ฮิลล์ ฟาร์ม ช๊อป จำกัด ขึ้นเป็นนิติบุคคล และไม่มีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้นแต่จะนำเอากำไรทั้ง 100% หลังหักค่าใช้จ่ายกลับคืนสู่สังคมทั้งหมด เพื่อแบ่งปันสร้างประโยชน์ต่อสังคม โดยฟาร์มช็อปให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2566 ตอนนี้มีเกษตรกรในเครือข่ายราว 11-12 ราย

“วันนี้การทำงานน่าจะถึงจุดสุดยอดของตัวเอง ที่สำคัญสิ่งที่เราทำมาทั้งชีวิต ได้ทำให้ตัวเอง ทำให้ครอบครัวได้อยู่อย่างสบาย เราประสบความสำเร็จระดับที่น่าพอใจคิดว่าจากนี้ที่ร่างกายยังฟิตอีกหลายปี มีโอกาสช่วยคนหรือทำอะไรที่เกิดประโยชน์ให้กับคนอื่นได้จึงจุดประกายให้เราก็ทำงานต่อไป” ดร.นัทเล่าให้เห็นภาพชัดเจนการทำงานไม่หวังกำไรของกลุ่มเพื่อน ๆ ทั้ง 5 คน

ดร.นัท เล่าอีกว่า เพราะมีบ้านพักอยู่ที่โป่งแยง มีอากาศดีทั้งปี ตัวเองชอบปลูกต้นไม้และด้วยพื้นที่บนดอยสามารถปลูกพืชผักเมืองหนาวได้ผลผลิตดีตลอดทั้งปี จึงตัดสินใจลงทุนปลูกราสป์เบอร์รีเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ จัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรดูแลแต่ละแปลงแบ่งคนละครึ่งของยอดขายหลังหักค่าใช้จ่าย บางคนจะมีรายได้ต่อเดือน 2-3 หมื่นถึงแสนบาทก็มีบางคนส่งเงินให้พ่อแม่สร้างบ้าน ซื้อที่ดิน ซื้อรถปิกอัพใหม่ เราสามารถอัปเกรดการเป็นอยู่ดีขึ้นปัจจุบันไร่ราสป์เบอร์รีของเราใหญ่สุดในประเทศไทย เพราะไม่ค่อยมีคนปลูก คนกินไม่เยอะ ราคาแพงทำตลาดยาก เพราะเป็นสินค้าบอบบางอายุสั้นเน่าเสียง่าย แต่ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก SCG Logistic ช่วยขนส่งสินค้าแบบรักษาอุณหภูมิ จึงสามารถขายสินค้าไปยังต่างจังหวัดได้ทั้งส่งถึงกรุงเทพฯเพียงชั่วข้ามคืน

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาเพื่อให้เกษตรกรในหมู่บ้านอยู่บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 900-1,000 เมตร อากาศเย็นเกือบทั้งปี ปลูกพืชผักผลิตผลต่าง ๆ ได้ผลดี อย่างคนแถวบ้านปลูกมะเขือเทศ พริกหวาน ขายให้พ่อค้าคนกลางราคาแค่กิโลกรัมละ 40 บาทรวมค่าส่ง เมื่อนำไปขายที่ปากคลองตลาด ราคาขึ้นเป็น 80 บาท ภรรยาผมไปซื้อมะเขือเทศ ที่ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ราคากิโลกรัมละ 150 บาท เราจึงมองภาพของเกษตรกรเหมือนกัน เจอปัญหาคล้าย ๆ กัน เราเป็นผู้บริโภคด้วย จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าจะซื้อมะเขือเทศกิโลกรัมละ 140-150 บาท เราหันมาซื้อจากข้างบ้านดีกว่า ด้วยการรวมตัวกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเกษตรกรด้วย

กลุ่มเพื่อนทั้ง 5 คน ซื้อที่ดินเพื่อทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา โดยคุณแสงจะนำสินค้าจากในฟาร์มมาทำโปรดักส์ เช่นเวลาไปเมืองนอกเราไปซื้อของแต่ละฟาร์มที่นำมาขาย เรียกฟาร์มช็อป แต่เมืองไทยอยู่ข้างถนน คนไม่เข้าไปที่ฟาร์มช็อป ถ้าเราสามารถดึงคนเข้าไปซื้อของอย่างเมืองนอกได้ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรกับคอนซูเมอร์มาคอนเนก กัน อีกทั้งพื้นที่ม่อนแบรีอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว อย่างม่อนแจ่มเป็นเส้นทางท่องเที่ยวครบทุกอย่าง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคนเยอะมาก เราจึงใช้โอกาสนี้เพื่อให้คนเข้ามาชมและซื้อสินค้าของเกษตกรจากม่อน แบรีซึ่งเป็นออฟไลน์ และอนาคตเราสร้างตลาดออนไลน์ให้เข้มแข็ง

สิ่งสำคัญเราจะเชื่อมคอนซูเมอร์กับฟาร์มเมอร์ แบบคอนเนกออนไลน์ให้ได้ เพราะร้านเราเริ่มนำผักที่ผ่านคัดเลือกจากเกษตรกรที่มีความรับผิดชอบผักปลอดภัย เพราะเมื่อลูกค้าสั่งซื้อไปก็จะระบุรายละเอียดว่าปลูกโดยใคร ราคาเท่าไรอย่างไรก็ดีหากลูกค้ากับเกษตรกรจะติดต่อซื้อของกันเองก็ได้เลย การที่ม่อนแบรีทำหน้าที่คนกลาง อย่างเช่น บัวคำปลูกมะเขือเทศอีกคนปลูกแคล ปลูกแตงกวา แล้วนำมารวมกันบรรจุกล่องโดยคนสูงวัย

“ช่วยให้คนรู้ว่าซื้อผักออนไลน์ได้ผักปลอดภัย ใครปลูกอย่างเช่น นายม่อนขายมะเขือเทศเก็บสด ๆ ในวันนั้นกิโลกรัมละ 50 บาท เกษตรกรก็ได้เงินเต็ม ๆ ตอนนี้ประกอบกับระบบขนส่งของเอสซีจีขึ้นมารับราสป์เบอร์รีที่ไร่ทุกวัน จึงสะดวกมากที่ส่งของจากโครงการม่อนแบรีถึงบ้านแบบสด ๆ ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศที่วางขายในวิลล่าฯ พารากอนพวงละ 180 บาท (ขนาด 200 กรัม) ที่ม่อนแบรีขายเพียง 60 บาท ดังนั้นเมื่อลูกค้าสั่งซื้อทางออนไลน์จะได้ของทั้งสดและใหม่ในราคาไม่แพง เรียกว่าทุกคนกินแล้วต้องว้าว! หากรวมกันสั่งซื้อยิ่งถูกเพราะเฉลี่ยค่าส่งยิ่งคุ้มค่า”

ดร.นัท กล่าวว่า พวกเราถูกสบประมาทว่าจะทำได้แค่ไหนเมื่อทำแล้วเราได้อะไร เป็นของเล่นเศรษฐีหรือเปล่า เมื่อเบื่อแล้วคงเลิก ตัวผมไม่ได้อะไรเลยแต่ได้ความภูมิใจ ที่ช่วยให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม เราอยากให้โครงการเกิดเกษตรกรไม่ถูกกดราคาผู้บริโภคได้ของสดและถูก เป็นการได้ทั้งสองฝ่าย

“โปรเจกต์เราเปิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 โดยใช้ศาสตร์ของพระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ชาวบ้านแข็งแรงและอยู่ได้ ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้นมีเกษตรกร 10 คน แต่สินค้าเราจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตอนนี้มีผักสลัดเยอะมาก มะเขือเทศ พริกเหลือง พริกแดงคุมคุณภาพปลอดภัย คะน้าฮ่องกง ฟักทองญี่ปุ่น และอีกหลายชนิด เมื่อรับออร์เดอร์มาก็จะส่งต่อให้เกษตรกรนำของมาจัดแพ็กเพื่อส่งต่อให้ลูกค้า”

ผักเปลี่ยนตามฤดูกาลเช่น หอมใหญ่ พลับ สินค้าแปรรูปใช้วัตถุดิบจากไร่อย่าง เหล้าบ๊วย ขนม เต้าหู้ออร์แกนิกของไทใหญ่ก็มี อนาคตจะขายเรื่องราว (สตอรี่) ทำเฟซบุ๊กเพื่ออธิบายว่าจะทำอะไรต่อไป ตอนนี้เริ่มต้นเล็ก ๆ อนาคตอยากให้คนมาก๊อบปี้ หากหลายหมู่บ้านทำได้เป็นเน็ตเวิร์ก จะช่วยยกระดับเกษตรกรได้ ในฐานะเพื่อน 5 คนมองภาพเดียวกันคือ 1. ยกระดับฟาร์มเมอร์ 2. ถ้ามีกำไรเอาไปทำอะไรต่อ แต่ไม่คืนทุนเพราะอยากช่วยสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

ตอนนี้เกษตรกรจะได้มากกว่าเดิม หากขายของได้ก็ขายเลย เราไม่คุมราคาแต่ให้เกษตรกรเป็นผู้กำหนดเอง จึงทำให้ขายของได้ราคาสูงกว่าผ่านคนกลาง ทางด้านผู้บริโภคได้ของสดและถูกเพราะส่งโดยเอสซีจี พวกเราอยากให้โครงการอยู่รอด เกษตรกรขายของได้ไม่ถูกเอาเปรียบมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างมั่นคง ดังนั้นใครไปม่อนแบรีตอนนี้มีฟาร์มตัวอย่างให้เห็นวิธีการปลูกราสป์เบอร์รี ปลูกผัก ทุ่งหัวกะหล่ำ ฟาร์มกระต่าย ไก่ยักษ์ ร้านกาแฟ หากไม่สะดวกก็สั่งซื้อของออนไลน์รับรองได้ของดีแน่นอน.