นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า แนวคิดและความรุดหน้าด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลว่า “Huawei ASEAN Academy (ประเทศไทย) มุ่งพัฒนากลยุทธ์ 4 ประการสำคัญ ได้แก่สถาบันธุรกิจ (สำหรับระดับผู้บริหาร) เพื่อบ่มเพาะภาวะผู้นำด้านดิจิทัลสำหรับผู้บริหารองค์กร, สถาบันเทคนิค (สำหรับระดับนักพัฒนา) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา เอสเอ็มอี และนักพัฒนาซอฟต์แวร์, สถาบันวิศวกรรม (สำหรับระดับผู้ประกอบวิชาชีพ) ที่มุ่งเน้นทักษะการปฏิบัติจริงสำหรับกลุ่มคนทำงาน และประการสุดท้ายคือการลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (สำหรับระดับผู้ใช้งาน) เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงความรู้ด้านดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม”

  “ในปัจจุบัน หัวเว่ยและพาร์ทเนอร์ผนึกกำลังพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 96,000 คน ซึ่งรวมถึงบุคลากรผู้มีทักษะด้านดิจิทัล 72,000 คน, ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ 8,000 คน, วิศวกรด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green engineer) 2,000 คน, บุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ 5,000 คน, เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ 3,500 ราย ทั้งยังจัดการฝึกอบรมให้กับนักเรียนและชุมชนในชนบท 6,000 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้หัวเว่ยได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งสถาบัน ICT Academy ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยกว่า 42 แห่งทั่วประเทศ”

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กล่าวถึงความร่วมมือในมหกรรม Thailand Digital Talent Summit ว่า  ในนามกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องขอขอบคุณหัวเว่ยสำหรับความร่วมมือครั้งสำคัญในการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อบ่มเพาะศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น กระทรวง อว.มีภารกิจสำคัญคือการสร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลที่กลายเป็นหัวใจสำคัญและเป็นพื้นฐานการพัฒนาของโลกยุคนี้ในทุกๆ มิติ เราพร้อมผนึกกำลังกับหัวเว่ยเพื่อผลักดันนวัตกรรมดิจิทัลและนโยบายการวิจัยที่ออกแบบโดยเฉพาะในการจัดหาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ พร้อมทั้งผลักดันนโยบายส่งเสริมการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ หัวเว่ยได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่กับพันธมิตรที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

1.  สร้างผลกระทบเชิงบวกกับภาครัฐบาลและนโยบาย: ในการผนึกกำลังกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงแรงงาน ทั้ง 3 หน่วยงานตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรด้านไอซีทีให้ได้รวม 10,000 คน, นักพัฒนาด้านคลาวด์และ AI จำนวน 5,000 คน, และวิศวกรด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมอีก 2,000 คนภายในปี พ.ศ. 2568 โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 20 แห่ง เพื่อสร้างองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรนักพัฒนาด้านคลาวด์และด้านดิจิทัลของหัวเว่ย

2. แบ่งปันองค์ความรู้ด้านวิชาการ: มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (Beijing University of Post and Telecommunications), มหาวิทยาลัยขอนแก่น, และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเปิดตัวโครงการใหม่กับหัวเว่ย ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อผลักดันการถ่ายทอดประสบการณ์ ส่งต่อองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรเพื่อโลกการทำงานในอนาคต

3.  มอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน: เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนสนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมไอซีที หัวเว่ยจัดโครงการแข่งขันด้านไอซีทีเพื่อชิงทุนการศึกษาในปี พ.ศ. 2566-2567 โดยได้มอบ 9 รางวัลให้กับทีมผู้ชนะรางวัลใน 3 สาขา ได้แก่ ด้านเครือข่าย (Network) ด้านคลาวด์ (Cloud) และด้านการประมวลผล (Computing) โดยมีมูลค่ารางวัลรวมกว่า 1.4 ล้านบาท

4.  การมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมและการสร้างอาชีพ: หัวเว่ยร่วมกับพันธมิตร 15 รายในธุรกิจองค์กร, คลาวด์, พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ จัดมหกรรมจัดหางานเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ได้รับการฝึกอบรมและประกาศนียบัตรรับรองจากหัวเว่ยได้เข้าถึงงานในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบ, ธุรกิจองค์กร, และการพัฒนาซอฟต์แวร์