ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ยังเกาะติดปัญหา 8 โครงการ 7 ชั่วโคตร งบประมาณ 545 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันก่อสร้างไม่แล้วเสร็จแม้แต่โครงการเดียว โดยเฉพาะ เขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ก่อสร้างทางระบายน้ำ อาคารชลศาสตร์ งบประมาณ 148 ล้านบาท ก็สร้างไม่เสร็จแต่ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับชาวชุมชนเมือง จนร้องไปที่ “เดลินิวส์” ให้ช่วยมาตรวจสอบ มีเครือข่ายภาคประชาสังคม ป.ป.ท.เขต 4 และ ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ออกมาเปิดโปง จน กรมโยธาฯ ยกเลิก 6 โครงการเหลืออีก 2 โครงการ ขณะเดียวกับ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต 12 ในฐานะประธานธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ส่งหนังสือถึง DSI-ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ส.ต.ง. ให้ร่วมตรวจสอบสางปัญหาตามอำนาจหน้าที่พร้อมวางกรอบการรายงานไปยังผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 12 ในฐานะประธานธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ภายใน 30 วันตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง รายงานสภาพหน้างานก่อสร้าง 8 โครงการ 7 ชั่วโคตร ไม่มีความเคลื่อนไหวของผู้รับจ้างเข้าก่อสร้าง โดยเฉพาะ 2 โครงการที่เหลือประกอบด้วย โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบ 39,540,000 บาท ความยาว 583 เมตร ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 11,099,000 บาท และเขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 300 เมตร งบ 39,525,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 20,169,000 บาท ไม่ปรากฏมีผู้รับจ้างเข้าทำงานสภาพงานยังมีกองดิน กองหิน เสาเข็มวางกลาดเกลื่อน กระจัดกระจายไปทั่วทั้งงาน จากการสอบถามชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณหน้างานก่อสร้าง เล่าว่า ในช่วงสัปดาห์ก่อน พื้นที่ เขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านหนองหวาย- หนองคล้า อ.ฆ้องชัย จะเห็นมีคนงานเข้ามาก่อสร้างมีการระดมอยู่สักระยะแต่ปัจจุบันก็หายไป ขณะที่แก่งดอนกลางนั้นมีแต่โครงปั้นจันไม่ปรากฏคนงานก่อสร้างพื้นที่ออกกำลังกายของคนเมืองก็ยังเต็มไปด้วยก้อนหิน ก้อนดิน ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน

ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ได้เข้าไปติดตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสภากาแฟ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ที่ออกมาดื่มกาแฟยามเช้าภายหลังออกกำลังกาย ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการบำนาญและเป็นกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากโครงการ 7 ชั่วโคตร ต่างเรียกร้องให้ กรมโยธาฯ ยกเลิกสัญญาใน 2 โครงการที่เหลือ โดยเฉพาะกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ก็ควรที่จะเร่งพิจารณาประกาศให้ 2 หจก.ขาใหญ่เป็นผู้รับจ้างทิ้งงานเหมือนเช่นกับที่ประกาศให้ผู้รับจ้างรายอื่นๆทิ้งงานในแต่ละเดือนด้วย แต่ความล่าช้าทุกๆด้าน ทำให้วงสนทนามองพฤติกรรม กรมบัญชีกลาง ที่อาจส่อไปในทางช่วยเหลือ 2 หจก.ขาใหญ่หรือไม่ แต่ที่ออกรสออกชาติก็ยังคงเป็นปัญหาการก่อสร้างในเขตเทศบาลบาลเมืองกาฬสินธุ์ กับการเดิมพันว่า ทั้ง กรมโยธาฯ และ กรมบัญชีกลาง จะเอาจริงเอาจริงกับการทิ้งงานครั้งนี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีรายงานความเคลื่อนไหวของ กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนฯ มีการเตรียมที่จะบรรจุวาระปัญหา 7 ชั่วโคตร ความเดือดร้อนของชาวกาฬสินธุ์ ขึ้นพิจารณาไต่สวน ตามรายงานแจ้งว่า กรณีนี้ รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ.ป.ป.ช. สภาฯ ได้มอบหมายให้ กมธ.ป.ป.ช.ฯ ตรวจสอบในทางลับเพื่อเก็บข้อมูลเครือข่ายขาใหญ่รวมไปถึงพฤติกรรมการทิ้งงานก่อขึ้นโต๊ะประชุมกลางเดือนนี้แล้ว

ด้านชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบ เป็นข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า การที่ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 12 ในฐานะประธานธรรมาภิบาลจังหวัดกาสินธุ์ ลงพื้นที่สอดส่องปัญหา 7 ชั่วโคตร โดยเฉพาะโครงการ 148 ล้านบาท เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ที่กรมโยธาฯยกเลิกสัญญาไปแล้วพร้อมกับกำหนดกรอบเวลาในการตรวจสอบให้องค์กรอิสระเข้าทำงานภายใน 30 วันนั้น กรณีดังกล่าวถือเป็นแนวทางในการทำงานที่ ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งต่อผลการสอดส่องให้ DSI-ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ส.ต.ง. ได้ทำการตรวจสอบในทุกมิติ โดยเฉพาะเหตุผลการทิ้งงานจนไปถึงความเสียหายที่ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบ และยังรวมถึงปัญหาของเจ้าหน้าที่ตรวจรับงานของกรมโยธาฯ เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินได้ทำตามวัตถุประสงค์ของระเบียบพัสดุหรือไม่ ยังรวมไปถึงเหตุผลในความเมตตาของกรมโยธาฯที่ให้ค่าปรับเป็น 0 บาท ตาม ว.1459 ว่าในกรณีดังกล่าวได้เมตตาให้กับรายอื่นๆหรือไม่ ทั้งนี้ยังรวมที่จะต้องตรวจสอบว่า หจก.2 แห่งนี้ ขาดสภาพคล่องจริงหรือไม่ เพราะตามเสียววิพากษ์วิจารณ์นั้น 2 หจก.มีฐานะดีไม่แพ้ที่ใดเหตุใดจึงมีปัญหาขาดสภาพคล่องทั้งที่ได้รับงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

“ตนมองว่าการตรวจสอบต้องชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น กรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย หรือ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เนื่องจากโครงการ 8 โปรเจกต์ใหญ่ งบประมาณ 545 ล้านบาท ได้ถูกยกเลิกสัญญาไปแล้ว 6 โครงการ เหลืออีก 2 โครงการ ดังนั้นในคำจำกัดความของคำว่า ”ยกเลิกสัญญา“ ที่จะอยู่ในระยะเวลาของสัญญาหรือไม่อยู่ระยะเวลาของสัญญาก็ได้ โครงการที่เหลืออีก 2 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และเขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย กรมโยธาฯก็ควรจะยกเลิกสัญญาด้วยเช่นกันเพราะเท่าที่ติดตาม ผู้รับจ้างก็ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อยกเลิกสัญญาครบแล้วก็ควรที่จะทำหนังสือเร่งรัดไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ลงประกาศเป็นผู้รับจ้างทิ้งงานอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อเป็นการลงโทษทางปกครองตามมาตรการณ์ระเบียบพัสดุปี 2560 ไม่ใช่ต่างคนต่างจะนิ่งเหมือนเป็นการเล่นละครที่จะหลบหลีกเหมือนเป็นการช่วยเหลือกันไปวันๆ”

ด้าน ข้าราชการบำนาญ ผู้ได้รับผลกระทบจาก 7 ชั่วโคตร กล่าวว่า การที่ได้ยกเลิกสัญญากับ 2 หจก.ขาใหญ่ และเมื่อกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ประกาศเวียนห้างฯ จะทำให้เกิดผลทางปกครองมีผลครอบคลุมไปถึง ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จะเป็นการตัดสิทธิสำหรับ หจก.ที่ทิ้งงานเพื่อไม่ให้ไปสร้างปัญหาให้กับ หน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ อย่างเช่น ติดตามข่าวที่ จ.ระยอง ก็มีปัญหาการก่อสร้างถนนงบประมาณ 540 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบันก็ไม่สร้าง ไม่เสร็จ กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เหมือนกับมีการพิจารณาประกาศที่จะยกเลิกสัญญานั้นจริงหรือไม่ ความเดือดร้อนชาวบ้านที่จังหวัดระยองก็ออกมาเรียกร้องเช่นกัน ปัญหาตรงนี้ก็เป็นผู้รับจ้างรายเดียวกันที่มาสร้างปัญหา 7 ชั่วโคตรให้ชาวกาฬสินธุ์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงกรคลัง ต้องให้ความเป็นธรรมกับเงินภาษีของประชาชน ขอให้ทบทวนถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ในเรื่องการแข่งขันเพื่อเอางบประมาณลงพื้นที่จากส่วนกลางเป็นความสามารถส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดหากได้งบประมาณถือว่าได้รับการพัฒนา แต่หากนำมาแล้ว ไม่ก่อสร้าง ก่อสร้างไม่เสร็จ ทิ้งงาน หรือมีการทุจริต สร้างปัญหาความเดือดร้อน กระทบต่อความมั่นคงสิทธิและเสรีภาพประชาชนแล้วก็ควรที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่องค์กรของตนเองมีอยู่อย่าให้ชาวบ้านคนกาฬสินธุ์ ต้องออกมาประฌามหรือสาปแช่งเลย

รายงานแจ้งว่า ทั้ง 6 โครงการที่ยกเลิกสัญญาพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้วทุกโครงการ คือ (1) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 937 เมตร งบ 59,350,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 10,336,500 บาท (2) โครงการเขื่อนตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 1,141 เมตร งบประมาณ 108,800,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เบิกจ่าย 64,544,000 บาท (3) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ความยาว 423 เมตร งบประมาณ 59,306,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 19,775,900 บาท (4) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 385 เมตร งบ 59,270,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 33,090,500 บาท (5) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน หลังเทศบาลตำบลลำพาน บ้านวังยูง อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 526 เมตร งบ 44,490,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 13,737,500 บาท และ(6) โครงการระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมือง งบ 148,200,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เบิกจ่าย 80,166,000 บาท ซึ่งทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ พบว่ามีปัญหากระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ในส่วนที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ชุมชน และแนวทางการเยียวยาชาวบ้าน เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อส่งต่อกรมโยธาฯต่อไป ทั้งนี้ในส่วนอีก 2 โครงการที่ยังไม่ยกเลิกนั้น คือโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบ 39,540,000 บาท ความยาว 583 เมตร ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 11,099,000 บาท และเขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 300 เมตร งบ 39,525,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 20,169,000 บาท ที่จะหมดสัญญาวันที่ 8 ก.ค. 67 พร้อมกันนั้น ยังอยู่ในระหว่างพิจารณายกเลิกสัญญาของกรมโยธาฯ