เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ออกมาให้ความรู้เรื่อง “โรคมะเร็งริมฝีปาก เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?” มีแผลเรื้อรัง ริมฝีปาก หรือในช่องปาก เรื้อรังไม่หายเกิน 3 สัปดาห์ อย่านิ่งนอนใจ รีบไปพบแพทย์

มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ริมฝีปาก มักจะเกิดที่ริมฝีปากล่าง ซึ่งอวัยวะในช่องปากอาจเกิดโรคมะเร็งได้ในทุกตำแหน่ง ได้แก่ ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก พื้นใต้ลิ้น ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล เรียกรวมๆ ว่ามะเร็งในช่องปาก

การระคายเคืองในช่องปากก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เช่น ฟันแตก ขอบฟันคม ทำให้เกิดการกระแทกอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เนื้อเยื่อในช่องปากเป็นแผล เมื่อเกิดซ้ำอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแผลเรื้อรัง เนื้อเยื่อบริเวณนั้นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งได้ วิธีสังเกตการเกิดโรค หากมีรอยโรคสีขาวหรือสีแดงในปาก อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งในช่องปากได้ โดยการเกิดโรคนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจาก สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินหมาก ใส่ฟันปลอมไม่พอดี ขอบฟันคมบาดเป็นแผล ส่วนการสังเกตตนเอง คือต้องหมั่นสังเกตรอยแผลหรือสิ่งผิดปกติในช่องปากขณะทำความสะอาด สังเกตว่าฟันปลอมยังใช้งานได้หรือไม่..

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก @Arak Wongworachat