เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช. เขต 13 กทม.) กล่าวถึงการประชุมสถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา สมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านนวัตกรรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567 ว่า ครั้งนี้เป็นการเชิญสถานพยาบาลในเขตพื้นที่ กทม. ทั้ง 7 วิชาชีพ มาเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งปัจจุบันสถานพยาบาลใน กทม. ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ประมาณ 1 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ประมาณ 1,000 แห่ง หรือ 10% สปสช. ตั้งเป้าจะเพิ่มให้ได้ 3,000 แห่ง ภายในสิ้นนี้ ทั้งนี้ มีแผนการจัดประชุมหมุนเวียนตามโซนต่างๆ ในกทม.

“เท่าที่รับฟังมา สิ่งที่ทำให้สถานพยาบาลเอกชนยังไม่เข้าร่วม เช่น ไม่รู้จักระบบการทำงานของบัตรทอง จึงรู้สึกกังวลว่าจะต้องทำอย่างไร ขึ้นทะเบียนอย่างไร ต้องเรียนรู้ระบบเบิกจ่าย แต่เราอยากชวนให้มาขึ้นทะเบียนกับ สปสช. มากๆ เมื่อเป็นหน่วยบริการในระบบแล้ว สปสช. จะเป็นผู้จ่ายค่าบริการให้ รวมทั้งปักหมุดให้ประชาชนในพื้นที่ในรับทราบว่าคลินิกของท่านอยู่ที่ไหน ทำให้มีผู้ไปรับบริการเพิ่มมากขึ้น” ทพญ.น้ำเพชร กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า กระแสตอบรับของคลินิกเวชกรรมใน กทม. ยังมีไม่มาก เพราะการขึ้นทะเบียนที่ยุ่งยาก แต่ก็อยากเชิญชวนให้มาร่วมในระบบบัตรทอง เพราะสถานการณ์ของโรงพยาบาลต่างๆ ยังมีความแออัด หากได้คลินิกเวชกรรมมาช่วยดูแลประชาชนในโรคง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ก็จะเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนและลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ ปัจจุบันมีคลินิกเวชกรรมขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว 157 แห่ง ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอีก 343 แห่ง เป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างยาก เพราะแม้หลักการจะดี แต่ก็ต้องบริหารจัดการระบบหลังบ้านให้สะดวกกับคลินิกเวชกรรมด้วย รวมทั้งอัตราค่าตอบแทนที่ไม่สูงนัก เมื่อหักภาษีแล้วอาจไม่คุ้มทุน

ด้าน ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าวว่า ร้านยาใน กทม. มี 3,200 แห่ง เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แล้ว 810 แห่ง แต่เป้าหมายปีนี้อยากเพิ่มเป็น 2,000 แห่ง อย่างไรก็ดี ร้านยาบางส่วนอาจจะยังไม่พร้อมเข้าร่วมโครงการในตอนนี้ เพราะบางส่วนเคยมีภาพจำเรื่องการจ่ายเงินช้า แต่ปัจจุบันมีความชัดเจนแล้วว่า สปสช. สามารถเร่งการจ่ายเงินภายใน 3 วัน ส่วนประเด็นเรื่องภาษี สภาเภสัชกรรมอยู่ระหว่างการสอบถามกรมสรรพากรถึงความเป็นไปได้ไม่นำรายได้จากการเข้าร่วมโครงการของ สปสช. มาคำนวนรวมในฐานภาษี เพราะปกติอัตราการจ่ายของ สปสช. ก็ไม่ได้ทำให้มีกำไร หากสามารถยกเว้นในส่วนนี้ได้ จะกระตุ้นให้ร้านยาเข้ามาร่วมให้บริการในระบบบัตรทองมากขึ้น

ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า กระแสตอบรับของคลินิกทันตกรรมใน กทม. ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว 55 แห่ง และ สปสช. ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 200 แห่ง ยิ่งสามารถเบิกค่าบริการได้ภายใน 3 วัน ก็ยิ่งทำให้คลินิกทันตกรรมอื่นๆ สนใจเพิ่มมากขึ้น แต่ยังกังวลเล็กน้อยว่าโครงการนี้จะอยู่นานหรือไม่ ระยะยาวจะเป็นอย่างไร รวมทั้งยังมีข้อติดขัดในการขึ้นทะเบียนที่มีความยุ่งยากพอสมควร

“ส่วนอัตราการจ่ายค่าบริการนั้น จริงๆ ก็ไม่ได้กำไร อาจขาดทุนด้วยซ้ำ ซึ่งคลินิกทันตกรรมที่ร่วมโครงการเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนมากกว่า ต้องนับถือสปิริตของทันตแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการนี้” ทพ.ดร.ธงชัย กล่าว

นางลัดดาวัลย์ ไวยสุระสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกพยาบาลใน กทม. ที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 13 แห่ง และตั้งเป้าเพิ่มอีก 17 แห่ง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าร่วมโครงการคืออัตราจ่ายค่าบริการยังไม่จูงใจ ดังนั้น สปสช. อาจต้องพิจารณาในจุดนี้เพิ่มเติม.