สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ว่า องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (อีเอ็มเอ) รับรองการผลิตวัคซีนป้องกันโรคชิคุนกุนยาตัวแรกของทวีป พร้อมเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเพิ่มการแพร่กระจายของโรคได้
ชิคุนกุนยา หรือที่เรียกกันว่าไข้ชิค เป็นโรคที่คล้ายกับไข้เลือกออก หรือไข้ซิกา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้สูงและปวดข้ออย่างรุนแรง และทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ในระยะเวลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน อาการต่าง ๆ ยังรวมไปถึง ข้อบวม, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, เหนื่อยล้า และมีผื่นขึ้น
อีเอ็มเอได้อนุมัติการผลิตวัคซีน “อิกชิก” (IXCHIQ) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) จะอนุญาตให้ใช้วัคซีนอย่างเป็นทางการ
อิกชิกผลิตโดย บริษัทวัลเนวา ออสเตรีย ในรูปแบบผง หรือการฉีดครั้งเดียว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตแอนตีบอดีใน 28 วันหลังฉีด ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี โดยวัคซีนนี้อาจอยู่ได้นานถึง 6 เดือน
ชิกวี ตั้งชื่อตามไวรัสที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ซึ่งภูมิภาคส่วนใหญ่ที่รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคนี้มาก ได้แก่ อเมริกากลางและอเมริกาใต้
อย่างไรก็ดี “ชิคุนกุนยาไม่ใช่โรคประจำถิ่นในยุโรป” แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อระหว่างการเดินทางออกนอกทวีป อีเอ็มเอเตือนว่า “การแพร่เชื้อโดยนักเดินทางที่ติดเชื้อ ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างทวีป ส่วนใหญ่ระบาดในยุโรปตอนใต้” และการแพร่กระจายของยุงที่เป็นพาหะของไวรัสชิกวีในภูมิภาคที่ห่างไกล เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาที่ได้รับการอนุมัติ
ชิคุนกุนยา แปลว่า “บิดเบี้ยว” ในภาษากีมากอนเด ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในแทนซาเนียและโมซัมบิก
องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า ชิกวีได้รับการตรวจพบครั้งแรกในแทนซาเนีย เมื่อปี 2495 และปัจจุบันถูกพบใน 110 ประเทศแอฟริกา, เอเชีย, อเมริกา และยุโรป
ขณะนี้ บราซิลกำลังประสบกับการระบาดของชิคุนกุนยา และมีรายงานผู้ป่วยสะสมมากกว่า 160,000 คน ในไตรมาสแรกของปี 2567 “การเพิ่มขึ้นของจำนวนโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ และแพร่กระจายผ่านยุง เช่น ชิคุนกุนยา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์” รายงานระบุ.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES