สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ว่า ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชเอ) มีมติเสียงข้างมาก 101 จาก 177 เสียง โดยมีการงดออกเสียง 21 เสียง และคัดค้าน 5 เสียง ในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รับรองมติที่เสนอโดยกลุ่มประเทศอาหรับ ร่วมด้วยจีน เวเนซุเอลา และนิการากัว ให้ยกระดับสิทธิของปาเลสไตน์ ซึ่งตอนนี้มีสถานะผู้สังเกตการณ์


นับจากนี้ ปาเลสไตน์จะสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในดับเบิลยูเอชเอ การร่วมยื่นเสนอมติ และการสามารถได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการชุดใดก็ตาม ของดับเบิลยูเอชเอ ยกเว้นเพียงว่า ปาเลสไตน์จะยังไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเท่านั้น “เนื่องจากยังไม่มีสถานะเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ”


ทั้งนี้ทั้งนั้น มติดังกล่าวของดับเบิลยูเอชเอ ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่ายเช่นกัน ว่าอาจทำให้สหรัฐที่เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของดับเบิลยูเอชโอ ระงับความสนับสนุนทางการเงินเพื่อเป็นการตอบโต้


อย่างไรก็ตาม มติของดับเบิลยูเอชเอสอดคล้องกับมติของสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ด้วยเสียงข้างมาก 143 เสียง ยกระดับสถานะผู้สังเกตการณ์ของปาเลสไตน์ เริ่มตั้งแต่การประชุมยูเอ็นจีเอสมัยต่อไป ในเดือน ก.ย. 2568 และยืนยันความสนับสนุนของยูเอ็นจีเอ ในการให้ปาเลสไตน์ได้รับสถานะสมาชิกเต็มรูปแบบของยูเอ็นจีเอ


มติของยูเอ็นจีเอ หมายความว่า ปาเลสไตน์สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมการอภิปราย การเสนอญัตติ การมีคณะผู้แทนร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการต่าง ๆ และการนั่งในที่ประชุมโดยเรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ แต่ปาเลสไตน์ซึ่งมีสถานะผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก ตั้งแต่ปี 2555 จะยังคงไม่มีสิทธิลงมติ เนื่องจากต้องได้รับการรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ก่อน.

เครดิตภาพ : AFP