เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 67 คณะรัฐมนตรีเดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กนอกระบบ Thailand Zero Dropout ผนึกกำลัง 11 หน่วยงาน เชื่อมโยงข้อมูลเด็กนอกระบบ ผุดกลไกระดับจังหวัด มอบผู้ว่าราชการจังหวัด นั่งหัวโต๊ะ สแกนเด็กทุกพื้นที่ นั้น

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดรายงานพิเศษความจริงและความเร่งด่วน ของสถานการณ์เด็กนอกระบบในประเทศไทย จัดทำขึ้นจากการประมวลงานวิจัย องค์ความรู้และข้อค้นพบในพื้นที่การทำงานของ กสศ. ร่วมกับภาคีทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562-2567 และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายและและมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า สถานการณ์เด็กเยาวชนนอกระบบ อายุระหว่าง 3-18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา ปัจจุบันมีจำนวน 1,025,514 คน หรือร้อยละ 8.41 ของเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีทั้งหมด (12,200,105 คน) ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) หรืออายุ 6-14 ปี จำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน คิดเป็นร้อยละ 38.42 ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา โดยจังหวัดที่มีเด็กและเยาวชนช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) หลุดจากระบบการศึกษาสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 61,609 คน ตาก 41,285 คน สมุทรสาคร 20,277 คน เชียงใหม่ 16,847 คน และสมุทรปราการ 14,349 คน

นอกจากนี้ งานวิจัยเชิงสํารวจเพื่่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาภายใต้ “โครงการการสนับสนุนและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและเด็กนอกระบบการศึกษา” ของ กสศ. เก็บข้อมูลจากองค์กรเครือข่าย 67 องค์กร จำนวนกลุ่มตัวอย่างเด็กนอกระบบการศึกษา 35,003 คน พบว่า เด็กนอกระบบส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุดอยู่ในระดับชั้น มัธยมต้น (ร้อยละ 24.25) ขณะที่ร้อยละ 10.63 ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย เด็กนอกระบบที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนบุคคล ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาสูงสุดในระดับประถมต้น (ร้อยละ 30.73) โดยอาชีพของผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำ-รับจ้างรายวัน (ร้อยละ 47.11) สะท้อนถึงความไม่มั่นคงด้านรายได้ของครอบครัว อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา สาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษา อันดับ 1 มาจากความยากจน (ร้อยละ 46.70) รองลงมาคือ ปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 16.14) ออกกลางคัน/ถูกผลักออก (ร้อยละ 12.03) ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา (ร้อยละ 8.88) ปัญหาสุขภาพ (ร้อยละ 5.91) อยู่ในกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 4.93) และได้รับความรุนแรง (ร้อยละ 3.63)

นายพัฒนะพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณี พบว่า เด็กเผชิญกับปัญหาที่โยงใยซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โดยที่ไม่สามารถแก้เพียงเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วจะหลุดพ้นจากวิกฤติได้ ซึ่งปัจจัยที่กระทบต่อการออกนอกระบบการศึกษา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงปัญหาครอบครัวแตกแยก การใช้ความรุนแรง การย้ายถิ่นฐาน ทัศนคติของผู้ปกครองที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ให้ทํางานช่วยเหลือครอบครัว ปัจจัยด้านพฤติกรรม สุขภาวะของนักเรียน เช่น เผชิญความเสี่ยงกับยาเสพติด ตั้งครรภ์ในวัยเรียน เด็กพิการหรือเจ็บป่วย ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม การตกเป็นเหยื่อของการถูกรังแก ถูกบูลลี่ ล้อเลียน เด็กโตเกินกว่าที่กลับมาเรียนซ้ำชั้น ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านครูและสถานศึกษา พบว่า การที่เด็กมีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียน โรงเรียนและครู มีส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงเด็กไม่ให้หลุดออกไปจากการศึกษา ทำให้เห็นประโยชน์ของการเรียน โดยพบว่ามีสาเหตุมาจากขาดการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง หลักสูตรรายวิชาไม่ตอบโจทย์ชีวิต มุ่งเน้นเรียนเพื่อแข่งขัน ลักษณะของครูผู้สอน ทั้งการลงโทษ การใช้ความรุนแรงทั้งโดยวาจาและการกระทำ ภาระงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น การบ้าน การส่งงาน เป็นต้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของโครงการวิจัยเรื่อง “การคาดการณ์อนาคตการศึกษาทางเลือก” (Foresight for Alternative Education) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ กสศ. ระบุว่าหนึ่งในผลกระทบต่อโอกาสการศึกษาของเยาวชนผู้ด้อยโอกาส คือ ความผิดหวังต่อระบบการศึกษา ซึ่งสร้างผลกระทบลบ ทำให้เยาวชนขาดแรงจูงใจ ความตั้งใจ และความทุ่มเทในการเข้ารับการศึกษาเพราะไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เยาวชนต่อต้านการศึกษาทุกรูปแบบ

“การทำความเข้าใจเด็กนอกระบบ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัญหานี้ซับซ้อน และสั่งสมมายาวนาน สำคัญที่สุดคือต้องช่วยอย่างเข้าใจในเงื่อนไขชีวิตเด็ก ออกแบบการเรียนรู้และให้การสนับสนุนเขาในแบบที่เหมาะสมกับตัวเขาที่สุด” นายพัฒนะพงษ์ กล่าว

ข้อเสนอของ กสศ. เส้นทางชีวิตของเด็กและเยาวชนนอกระบบนั้น รูปแบบการศึกษาของเด็กนอกระบบการศึกษาต้องออกแบบให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของเด็กซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ คือ กลุ่มเด็กที่ต้องการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และกลุ่มเด็กที่ไม่มีความประสงค์จะเข้าสู่ระบบการศึกษาแต่มีความต้องการประกอบอาชีพ การส่งเสริมการศึกษาของเด็กกลุ่มที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากมีแรงจูงใจและความพร้อม แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการประกอบอาชีพโดยไม่ต้องการศึกษาต่อ จะยังขาดแรงจูงใจและความพร้อมในกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ควรได้รับการศึกษาในรูปแบบของการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษา ไปพร้อมกับรายได้จากการประกอบอาชีพตามเป้าหมายของตัวเอง โดยกำหนดลักษณะของรูปแบบการศึกษาได้ 3 ประการคือ ต้องให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ (anywhere) เรียนเมื่อไรก็ได้ (anytime) และเรียนอะไรก็ได้ตามที่ตนเองสนใจ (anything) รวมถึงอาจใช้รูปแบบการเรียนแบบออนไลน์ ระบบธนาคารหน่วยกิต (credit bank) เพื่อสะสมและใช้เทียบโอนคุณวุฒิการศึกษาสำหรับการสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไปได้ เพื่อให้เด็กมีความพร้อมใช้เรียนได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง.