เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินคำนี้ เกี่ยวกับความเชื่อของเห็ดเผาะ หากอยากให้ขึ้นดกงาม ต้องเผาป่าก่อน ซึ่งจะเป็นการปรับหน้าดินที่ดี บวกกับเป็นช่วงฤดูฝน จะส่งผลให้เห็ดเผาะขึ้นเยอะมาก แทบเก็บไม่ไหว

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยให้ความเห็นเชิงวิชาการว่า

“ความเชื่อและความจริง เกี่ยวกับไฟป่า และเห็ดเผาะ-เห็ดโคน ชาวบ้านหลายคนสังเกตเห็นว่า พื้นที่ใดที่เกิดไฟป่า เมื่อฝนมาพื้นที่นั้น จะพบเห็ดเผาะได้ง่าย จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า เห็ดเผาะชอบไฟป่า เมื่อเกิดไฟ จะได้เห็ดเผาะมากด้วย”

“ซึ่งถ้าหากเราพิจารณาเรื่องราวของเห็ดเผาะ ซึ่งเป็นราที่อาศัยอยู่กับรากพืช จะเห็นได้ว่า เป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการเกิดไฟป่า สามารถทำลายเส้นใยเห็ดเผาะที่อยู่ใต้ดิน รวมถึงทำลายพืชอาศัยของเห็ดเผาะด้วย ดังนั้นการเกิดไฟป่าจะส่งผลเสียต่อเห็ดเผาะมากกว่าผลดี”

“ในการเกิดไฟป่าครั้งแรก ๆ ในพื้นที่เป็นการทำลายเศษใบไม้ที่ปกคลุมผิวดิน ทำให้เรามีโอกาสเห็นเห็ดเผาะได้ง่ายในช่วงต้นฤดูฝน แต่หากปล่อยให้เกิดไฟป่าในพื้นที่บ่อยครั้งเข้า เชื้อเห็ดเผาะใต้ดิน รวมถึงพืชอาศัยจะถูกทำลายลงไป จนกระทั่งเชื้อเห็ดเผาะในพื้นที่ หายไปนอกจากเรื่องเห็ดเผาะแล้ว”

“ชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีไฟ เห็ดโคนจะไม่เกิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เนื่องจากไฟป่าทำให้ปลวกตาย รวมถึงทำลายเศษใบไม้ที่เป็นอาหารของปลวกอีกด้วย เมื่อไม่มีอาหาร ปลวกที่เหลือรอด อาจจะย้ายรังหนีได้ รวมถึงสภาพป่าหลังเกิดไฟป่าแล้วนั้น ไม่เหมาะกับการพัฒนาเป็นดอกเห็ดของเห็ดโคน เนื่องจากขาดความชื้นที่เหมาะสมนั่นเอง”

“ดังนั้นความเชื่อและการบอกเล่าต่อกันมา จะมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่เป็นการเข้าใจผิดปะปนกันไป จึงควรคิดวิเคราะห์ตามเหตุและผล รวมถึงพิจารณาองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ให้สอดคล้องในธรรมชาติป่าเต็งรังเป็นป่าผลัดใบ ทำให้ในช่วงฤดูแล้ง ต้นไม้ทุกต้นจะทิ้งใบพร้อมกัน เกิดการสะสมของใบไม้แห้งเป็นจำนวนมากและกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี”

“ขณะเดียวกัน ใบไม้เหล่านี้คืออาหารของปลวก หากสามารถจัดการใบไม้เหล่านี้ ด้วยการนำมาสุ่มกองเป็นหย่อม ๆ ใกล้กับจอมปลวก จะสามารถลดการลุกลามของไฟป่า อีกทั้งปลวกยังสามารถนำใบไม้เหล่านี้ไปใช้ในการเพาะเห็ดโคน เป็นการเพิ่มผลผลิตเห็ดโคน และเมื่อถึงหน้าเห็ดเผาะ เราก็จะสามารถหาเห็ดเผาะได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเผาป่าในพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ติดต่อกัน เชื้อเห็ดเผาะอาจหายไป อีกทั้งต้นไม้ได้รับความเสียหายและอาจตายได้ในที่สุด ต้นไม้พืชอาศัยของเห็ดเผาะสามารถถูกฟื้นฟูได้ด้วยการใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะ”

“ดังตัวอย่างที่ป่าชุมชนบ้านก้อทุ่ง จ.ลำพูน ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่พบเห็ดเผาะเป็นเวลานาน แต่เมื่อได้มีการใส่หัวเชื้อเห็ดเผาะให้กับพืชอาศัย พบว่ามีเห็ดเผาะเกิดขึ้นเมื่อต้นฤดูฝนถัดไปทันที ถ้าหากเรากลับมาฟื้นฟูป่าชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เป็นแหล่งอาหารของชุมชน จึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อหาเห็ดและของป่าอีกต่อไปการเก็บเห็ดเผาะหรือเห็ดป่าอื่น ๆ ออกจากพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก มีโอกาสทำให้เห็ดเผาะมีจำนวนลดน้อยลง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้น ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บดอกเห็ดแก่ออกจากพื้นที่ เพื่อให้เห็ดมีโอกาสขยายพันธุ์ต่อไปด้วย”

“เหตุนี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จึงริเริ่มโครงการเพื่ออนุรักษ์พันธุ์เห็ดเผาะ ภายใต้ชื่อ ธนาคารเห็ดเผาะ ร่วมกับการกำหนดมาตรการในการเก็บหาเห็ดในเขตพื้นที่อุทยานโดยมาตรการนี้ จะให้ชาวบ้านนำเห็ดเผาะแก่ที่เก็บได้ ฝากไว้กับธนาคารเห็ดเผาะ เพื่อใช้ผลิตเป็นหัวเชื้อใส่กลับคืนให้กับผืนป่าที่เป็นแหล่งเห็ดเผาะในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการเพิ่มการกระจายพันธุ์ของเห็ดเผาะ ทดแทนดอกเห็ดที่ถูกเก็บมาหลังจากดำเนินการแก้ปัญหาทั้ง 3 แนวทาง พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการดูแลและป้องกันการลุกลามของไฟป่าทำให้จุดความร้อนลดลงไปถึงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีก่อน”

จาก หนังสือแนวทางการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดโคน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายมัญญา นาคพน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ จาก https://drive.google.com/…/1IVNL1UDrDmKOCSvm4Bd…/view…