ในชีวิตของการทำงาน ใครๆ ก็อยากจับเงินล้านกันทั้งนั้น บางคนเลือกที่จะเสี่ยงโชคเสี่ยงดวง ขอลุ้นรางวัล ไม่ว่าจะสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เดือนหนึ่งจะออก 2 งวด หรือแม้แต่สลากออมทรัพย์ บรรดาแบงก์รัฐ 3 ค่าย 3 สี

แต่บางคนก็ไม่มีดวงในด้านนี้เอาเสียเลย ต้องทำงานถึงจะมีเงิน ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย แล้วแต่ความขยัน ซึ่งสิ่งสำคัญของคนกลุ่มนี้คือ “การวางแผนทางการเงิน” เพื่อให้เงินทำงาน จนไปสู่เป้าหมายพิชิต “เงินล้าน” ในที่สุด!!!

วิธีให้เงินทำงาน พิชิต “เงินล้าน” หลักๆ มี 3 ทางเลือก

1. ฝากประจำ
การฝากประจำ เป็นการเก็บเงินล้านแรกที่ง่ายที่สุด และมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนประเภทอื่น แต่ก็ต้องแลกด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ในบางครั้งผลตอบแทนของดอกเบี้ยอาจไม่ได้สูงมากนัก

ตัวอย่าง หากฝากประจำเดือนละ 7,000 บาท ดอกเบี้ย 1.25% ต่อปี ใช้เวลากี่ปีถึงจะมีเงินล้าน?
1 ปี = 85,050.00 บาท
5 ปี = 436,014.97 บาท
10 ปี = 899,970.73 บาท
20 ปี = 1,093,773.74 บาท

2. กองทุนรวม
การลงทุนในกองทุนรวม ผู้ลงทุนนั้นทำการลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อาจได้ผลตอบแทนเป็นส่วนต่างราคาซื้อขาย และบางกองทุนรวมอาจมีเงินปันผลระหว่างลงทุน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นมา ทำให้ผู้ลงทุนต้องยอมรับความเสี่ยงนี้ให้ได้ด้วย

ตัวอย่าง ลงทุนในกองทุนรวม ผลตอบแทน 5% ต่อปี ใช้เวลากี่ปีถึงจะมีเงินล้าน?
1 ปี = 88,200.00 บาท
5 ปี = 487,360.68 บาท
10 ปี = 1,109,370.12 บาท

3. หุ้น
การลงทุนในหุ้น แม้จะได้ผลตอบแทนสูงและเร็ว แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงมาก ซึ่งรูปแบบการลงทุนในหุ้น ผู้ลงทุนต้องระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะอาจสูญเงินต้นแถมยังไม่ได้กำไร จึงต้องติดตามสถานการณ์ตลาดทุน และภาวะหุ้นในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่าง การลงทุนในหุ้น ผลตอบแทน 8% ต่อปี ใช้เวลากี่ปีถึงจะมีเงินล้าน?
1 ปี = 90,720.00 บาท
5 ปี = 532,218.04 บาท
9 ปี = 1,132,871.25 บาท

เทคนิคสำคัญให้ถึงเงินล้านได้เร็วกว่าเดิม คือ หากมีเงินโบนัส หรือเงินได้พิเศษอื่นๆ สามารถ “เพิ่มการลงทุน” เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เราพิชิตเงินล้านได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้นตามไปด้วย

เมื่อถึงเงินล้านแรกแล้ว ต่อไปควรนำเงินไปต่อเงิน ให้เกิดหลักประกันของชีวิต และนำไปใช้จ่ายในยามเกษียณที่อาจต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งการวางแผนการเงินเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้บั้นปลายชีวิต เกษียณอย่างมีความสุข!

ข้อควรระวัง : “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน”

ขอบคุณข้อมูล : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา