ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหวาของจีน เปิดตัวโครงการพัฒนาเมืองให้เป็นโรงพยาบาลระบบปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะหรือโรงพยาบาล “เอไอ” ในลักษณะเดียวกันกับ “เมืองเอไอ” ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแห่งสหรัฐ ซึ่งกลายเป็นไวรัลไปเมื่อปีที่แล้ว โดยตั้งชื่อว่า “Agent Hospital”

ทีมวิจัยเน้นย้ำไปที่ศักยภาพของการเข้าถึงนวัตกรรมในศูนย์สุขภาพ โดยโรงพยาบาลเอไอนี้ จะมีกลุ่มผู้ป่วยเสมือนจริงเข้ารับการรักษาโดยกลุ่มแพทย์เอไอ ซึ่งได้รับการออกแบบให้พัฒนาตัวเองและปรับปรุงทักษะทางการแพทย์ได้เอง

ทั้งแพทย์และพยาบาลเสมือนจริงเหล่านี้ จะอยู่ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงซึ่งขับเคลื่อนโดย LLM (Large Language Model) ซึ่งเป็นเอไอประเภทหนึ่ง สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองในเชิงลึกจากข้อมูลจำนวนมหาศาลจนสามารถสนทนา หรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบเองได้ อันเป็นพื้นฐานของแชตบอตอัจฉริยะต่าง ๆ เช่น แชตจีพีที

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาแพทย์เอไอยังสามารถรักษาผู้ป่วยเสมือนจริงได้เป็นจำนวนมากถึง 10,000 ราย ภายในเวลาเพียง 2-3 วัน ซึ่งหากแพทย์ที่เป็นมนุษย์จะรักษาคนไข้ในจำนวนนี้ได้หมด ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเป็นอย่างต่ำ

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบด้วย MedQA dataset พบว่า แพทย์เอไอเหล่านี้ รักษาโรคได้อย่างถูกต้อง ตรงตามอาการถึง 93.06% ซึ่งเป็นการตรวจสอบทั้งระบบการรักษา ตั้งแต่การวินิจฉัยไปจนถึงการติดตามอาการหลังจากรักษาหายแล้ว

โรงพยาบาลเอไอในโลกเสมือนจริงนี้ ยังประกอบไปด้วยห้องตรวจโรคและห้องพบแพทย์ที่หลากหลาย ซึ่งจะมีแพทย์ประจำการ 14 ราย พร้อมด้วยพยาบาล 4 ราย ในแต่ละห้อง การจัดรูปแบบทีมรักษานี้ มีเป้าหมายเพื่อขยายประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและส่งเสริมการฝึกฝนสำหรับนักเรียนแพทย์ โดยทำให้พวกเขาสามารถเสนอแผนการรักษาในสภาพแวดล้อมที่ไร้ความเสี่ยง

หลิวหยาง หัวหน้าโครงการโรงพยาบาลเอเจนต์อธิบายว่า นวัตกรรมโรงพยาบาลเอไอนี้ มีขึ้นเพื่อพัฒนาระบบดูแลสุขภาพในโลกแห่งความจริง แนวคิดของเมืองโรงพยาบาลเอไอ ซึ่งมีทั้งแพทย์และคนไข้เสมือนจริงมีความสำคัญทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป เพราะโรงพยาบาลเอไอมีจุดประสงค์เพื่อฝึกฝนบุคลากรทางการแพทย์ผ่านสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่มีการกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อให้มันสามารถพัฒนาและปรับปรุงทักษะในการรักษาโรคได้โดยอัตโนมัติ

โรงพยาบาลเอไอนี้ ยังสามารถให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง แต่ราคาไม่แพง รวมถึงมีความสะดวกสบาย โดยใช้ประโยชน์จากคลังความรู้ด้านการแพทย์ที่มีอยู่อย่างมหาศาล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้จำลองการคาดการณ์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เช่น สถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อโรคเมื่อเกิดโรคระบาด

แม้จะเป็นโครงการที่ดูมีอนาคตไกล แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่ เช่น การปรับให้เข้ากับระเบียบปฏิบัติทางการแพทย์ของประเทศและการสร้างความมั่นใจต่อสภาพการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเอไอ

ด้าน ดร.ตงเจียหง แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา ก็ชี้ว่า แม้เอไอจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคและดูแลสุขภาพได้อย่างเที่ยงตรง แต่ระบบเอไอก็ยังไม่สามารถแทนที่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นมนุษย์ ซึ่งมีความใส่ใจและเห็นอกเห็นใจคนไข้ได้

ที่มา : roboticsandautomationmagazine.co.uk

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES