เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีวัดแห่งหนึ่ง ในเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร กำหนดให้ผู้สมัครบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต้องแสดงผลการตรวจสุขภาพและการตรวจหาเชื้อเอชไอวี โดย กสม. ได้มีมติเมื่อเดือน ก.ย. 66 มีข้อเสนอแนะไปยังวัดดังกล่าว ให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ประสงค์จะเข้ารับการอุปสมบท และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งเวียนไปยังวัดที่อยู่ในสังกัดทุกวัดไม่ให้บังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ประสงค์จะเข้ารับการอุปสมบท เพื่อไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยใช้เหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นข้อจำกัด ที่ลิดรอนโอกาสในการเข้าถึงเสรีภาพในการปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธ 

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า เชื้อเอชไอวี จะไม่ติดต่อจากการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป  ไม่ติดต่อผ่านทางระบบหายใจ อีกทั้งเป็นเชื้อที่ตายง่ายเมื่ออยู่นอกร่างกาย  หากผู้ติดเชื้อได้รักษาอย่างถูกต้องด้วยการรับประทานยาต้านเชื้ออย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง  และดำรงชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป  ประกอบกับกฎมหาเถรสมาคมกำหนดเพียงว่าผู้ประสงค์จะบรรพชาต้องเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ และมีเพียงข้อห้ามที่ไม่อนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนที่มีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย เท่านั้น  โดยให้เป็นดุลพินิจของพระอุปัชฌาย์  แต่การใช้ดุลพินิจดังกล่าวต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงอย่างสมเหตุสมผลตามบริบทของสังคมไทยและข้อมูลทางการแพทย์ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลด้วย

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า เมื่อเดือน เม.ย. 67 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือแจ้งการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของ กสม. โดยแจ้งมติมหาเถรสมาคม  เรื่องการตรวจหาเชื้อเอชไอวี กรณีบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลทั่วไป ระบุว่า มหาเถรสมาคมได้มีมติที่ 313/2567  รับทราบความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขตามรายงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ว่าการติดเชื้อเอชไอวี  ไม่ใช่โรคจึงไม่เข้าข่ายเป็นโรคที่น่ารังเกียจตามกฎมหาเถรสมาคม ประกอบกับมีความเห็นของศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ  ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม  ว่าการบังคับให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี ไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย มตินี้ไม่กระทบต่อหน้าที่และอำนาจของพระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสที่จะคัดกรองกุลบุตร และปกครองพระภิกษุสามเณรในสังกัด และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ดำเนินการแจ้งเจ้าคณะใหญ่ทราบ และแจ้งพระอุปัชฌาย์ ถือปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายวสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรรมการสิทธิฯ ขอชื่นชมมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนา ที่ได้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็ว อีกทั้งได้แจ้งให้พระสังฆาธิการระดับสูง และพระอุปัชฌาย์ ทราบแล้ว”