‘นวัตกรรมยั่งยืน’ (Sustainnovation) ถือได้ว่าเปรียบเสมือนกุญแจอันทรงพลัง ในการต่อสู้และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับ วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม

ดังที่ ‘ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี’ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แสดงวิสัยทัศน์บนเวที ‘Innovation Keeping the World นวัตกรรมยั่งยืน สู้ภาวะโลกเดือด ‘ ที่จัดโดย ‘สปริงส์ นิวส์’ โดยระบุว่า โลกเดือดส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างรุนแรงมากขึ้นในทุกวัน ปัญหาดังกล่าวถือเป็นวาระระดับโลกที่แม้แต่ ‘อันโตนิโอ กูร์เตียเรซ’ เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ยังได้ออกมาประกาศว่าโลกร้อนถือเป็นภาวะฉุกเฉิน พร้อมเรียกร้องให้ทุกชาติในโลกร่วมกันแก้ปัญหา และสำหรับประเทศไทยเอง นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลก็มองว่าปีนี้เป็นปีแรกที่เกิดวิกฤต ‘โลกรวน’ ฝนไม่เป็นไปตามฤดูกาล ขณะที่แล้งก็แล้งจนสุดทาง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหญ้าทะเลตาย ปริมาณเต่าทะเลเพศเมียมีจำนวนมากขึ้น แต่ไม่มีการผสมพันธุ์เพิ่ม สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วย อาทิ กระทบภาพการท่องเที่ยว และกระทบต่อความเป็นอยู่ชายฝั่ง ปัญหาโลกเดือดจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นทางแก้คือ ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องวางแผนร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งในภาพรวมแล้ว ฝนกรณีเช่นนี้จะต้องทำทีละนิด ทีละขั้นตอน หากทุกฝ่ายช่วยกัน เชื่อว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น

“สิ่งสำคัญคือเราต้องร่วมมือกัน เพื่อโลกในอนาคต เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจุบันได้ ในวันนี้เรามองเห็นแล้วว่าวันข้างหน้าปัญหาจะเกิดขึ้นแน่ แต่ผมเชื่อว่ามนุษย์ฉลาดพอที่จะใช้เทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรม ใช้ความฉลาดของเราในการที่จะช่วยพื้นฟูโลกได้” ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว

ด้าน ‘ปวิช เกศววงศ์’ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ทางกรมฯ มี 4 กลไกสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทย สู้กับภาวะโลกเดือด คือ 1. การวางนโยบายระดับประเทศ 2. สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม 3. การเงินการลงทุน และ 4. เรื่องของการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี โดยทั้ง 4 กลไลจะช่วยทำให้ประเทศไทยมีโอกาสไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 ในส่วนของภาคประชาชน ทางกรมฯ ก็จะต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาเหล่านี้เพื่อให้เกิดการ้ปลี่ยนแปลง

“เราต้องร่วมมือกัน จะต้องคิดว่าเราเป็นประชากรโลก ไม่ได้เป็นเพียงแค่ประชากรของประเทศไทยเท่านั้น” ปวิช กล่าว

ขณะที่ ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รักษาการ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เผยว่า ประเทศไทยกับการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ไขวิกฤตนั้น จะต้องเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ดังนั้นก็จะต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียน อาทิ เรื่องรถ EV ที่จะเป็นเทรนด์ของโลกใน 10 ปีนี้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero และในอนาคตจะต้องมุ่งสู่กรีนไฮโดรเจน เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยี การดูดกลับคาร์บอนฯ ก็ควรเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น ทว่าปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ต้องพึ่งพาปัจจัยด้ารการเงิน การลงทุน ทั้งจากจากภาครัฐและเอกชน

ด้าน ‘ศิวัช แก้วเจริญ’ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตตกรรมที่จะเลือกเข้ามาใช้จะเหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ส่งผผลกระทบต่อทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนเป้าหมายหลักเลยคือเรื่องของ ‘Fade down goal’ กล่าวคือ การค่อย ๆ พัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ลดการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ใช่พลังงานสะอาด แล้วจึงขยับขยายสัดส่วนให้สมดุลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ

นอกจากนี้ ‘วฤต รัตนชื่น’ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในการต่อสู้โลกเดือด โดยระบุว่า ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องต้องเทหมดหน้าตักเพื่อคิดค้นหรือพัฒนาเทคโนโลยีสู้โลกร้อน เพราะไม่ว่าจะเป็นแผนเทคโนโลยีของประเทศใด ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้

ไม่เพียงเท่านี้ วฤต ยังเปิดเผยบนเวทีอีกว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ใช้ต่อสู้หรือกอบกู้โลกจากสถานการณ์โลกเดือดมีอยู่ด้วยกัน 3 เฟส ได้แก่ เฟส 1 เทคโนโลยีที่พร้อมใช้งาน อาทิ พลังงานหมุนเวียน โดยพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะกับประเทศไทยมากที่สุดคือ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เฟส 2 เทคโนโลยีที่ทำได้แล้ว แต่มีต้นทุนสูง และยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย อาทิ ไฮโดรเจน หรือเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน และเฟส 3 เทคโนโลยีที่ยังอยู่ในกระบวนการและยังไม่สำเร็จ อาทิ ดวงอาทิตย์เทียม

ยังมี ‘นที ศรีรัศมี’ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส DIGITAL RETAIL & STRATEGIC ALLIANCE บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับ ESG มานานกว่า 10 ปี เช่น โครงการไม่แจกถุงพลาสติกเป็นห้างสรรพสินค้าแรก และซูเปอร์มาร์เกตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการ เดอะมอลล์ กรุ๊ป โก กรีน (THE MALL GROUP GO GREEN) : GREEN EVERYDAY งดบริการถุงพลาสติกทุควัน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้แทน หากลูกค้ามีความจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติก จะขอความร่วมมือ บริจาค 1 บาทต่อถุง เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ มากมาย อาทิ โครงการชวนบริจาคขวดพลาสติก PET เพื่อนำไปตัดเป็นชุด PPE ให้บุคคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ยังจะเร่งส่งเสริมนวัตกรรมในการรับมือโลกร้อน ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่โครงการประกวดนวัตกรรมการจัดการพลาสติกเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและทะเล พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับกทม. เปิดตัวโครงการ ‘The First Bangkok Zero Waste Park’ ต้นแบบสวนสาธารณะ บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน แห่งแรกในประเทศไทย ณ อุทยานเบญจสิริ

เช่นเดียวกันกับ ‘อราคิน รักษ์จิตตาโภค’ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส ระบุว่า 1 ใน 3 บริษัทภายในเครือ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโลกเดือด ทว่ายังเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถลงมือได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งนี้มองว่าจะสิ่งที่ทำได้เป็นอันดับแรกคือการเริ่มจากเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยการหันมาเอาใจใส่ในการดูแลสิ่งแวดล้อม

“ถ้าเรามองว่าโลกเป็นบ้านหลังหนึ่ง เราจะนำแนวความคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอะไรที่สามารถทำได้ง่าย ๆ มาใช้ในบ้านของเรา หรือหากทำคนเดียวไม่ไหว ก็จำเป็นจะต้องร่วมดูแลบ้านหลังนี้ด้วยการสร้างพาร์ทเนอร์ด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน” อราคิน กล่าว

ด้าน ‘วสุ กลมเกลี้ยง’ Executive Vice President บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ร่วมแชร์มุมมองว่าGlobal trends’ ณ ขณะนี้คือเรื่องของการลดคาร์บอนฯ เนื่องจากโลกเราในปีที่แล้วมีการปล่อยคาร์บอนฯ จำนวนมหาศาล ดังนั้น จึงมีการตั้งคำถามว่าจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือ ควรเริ่มจากสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ เช่น ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์หรือพลังงานลม ซึ่ง EA เองก็มีนวัตกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันสีเขียว การขับเคลื่อนพลังงานทางน้ำ ทางรถ ทางราง เหล่านี้สามารถลดคาร์บอนได้มหาศาล

ทั้งนี้ ยังมีเสียงสะท้อนของมุมมองคนรุ่นใหม่จาก Gen Y และ Gen Z เริ่มด้วย ‘ท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร’ ผู้ก่อตั้ง Platform ECOLIFE บริษัท คิดคิด จำกัด ได้ให้มุมมอง ที่นับว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ รุ่นแรก ๆ ของเมืองไทยในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวว่า ในปัจจุบัน เรื่องทำเพื่อโลก ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น เป็น สิ่งที่ Must have , Must do ซึ่งถือว่ามีการขยับขยายความตระหนักรู้เพิ่มขึ้นกว่าอดีต

นอกจากประชาชนคนธรรมดาแล้ว บริษัทต่าง ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ณ เวลานี้ สังคมถือว่าอยู่ในภาวะที่ดีกว่าอดีต ดังนั้นความต้องการสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน ผู้ผลิตต่าง ๆ ก็จะต้องหาวิธีการมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สินค้ารักษ์โลกก็จะมีราคาถูกลง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ด้าน ‘ชณัฐ วุฒิวิกัยการ’ หรือ ‘KongGreenGreen’ อินฟลูเอนเซอร์ เปิดมุมมองว่า การลดขยะนั้น ให้มองเรื่องใกล้ๆตัว และทำสิ่งที่ง่ายที่สุด อาทิ การลดขยะจากขวดน้ำ ที่เราดื่มแต่ละสัปดาห์ เมื่อเราเห็นปริมาณขยะที่ลดลงไปมากเราก็จะมีกำลังใจ และ ทุกคนในโลกจำเป็นต้อง “ขยับ” ทำเพื่อโลก ทั้งนี้ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากคนทั้งโลกไม่ช่วยกันลดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อลดโลกร้อน ปัญหาต่าง ๆ ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือตัวมนุษย์โลกเราเอง

ขณะที่ ‘ปัง-อาย’ EV Girl อินฟลูเอนเซอร์ ก็ได้ขอเป็นตัวแทนอินฟลูเอนเซอร์ จากคนรุ่นใหม่ เล่าความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมว่า ในความเป็นจริงแล้ว เด็กรุ่นใหม่เติบโตมาจิตสำนึกของการรักษ์โลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นการรณรงค์เรื่องเหล่านี้สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมได้ไม่ยากนัก

ยกตัวอย่างเช่น การรณรงค์เรื่องการใช้ EV จากในอดีตที่มีรถให้เลือกน้อย ทว่าในปัจจุบันตัวเลือกของรถ EV ก็มีเข้ามาให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งนั่นมาจากความต้องการของผู้และการตระหนักของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้สินค้ารักษ์โลกต่างๆ ในทุกวันนี้ ถือว่าเป็นเทรนด์ที่ดี เพราะสินค้าเหล่านี้ มีเรื่องราว มีอินไซด์ ซึ่งสามารถสร้างแรงกระตุ้นใจให้กับผู้บริโภคมีความต้องการซื้อได้มากขึ้น