จากกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เข้ารายงานต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นการด่วน เนื่องจากได้รับรายงานจากทางการประเทศอินโดนีเซียว่า สามารถทำการจับกุมนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ “แป้ง นาโหนด” ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาที่ถูกขังในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และได้หลบหนีไปจากการควบคุมระหว่างการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 22 ต.ค. 66 ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ผู้สื่อข่าวตรวจสอบบทบัญญัติในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบการกำหนดโทษกรณีผู้ต้องหาหลบหนี ดังนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรกได้กระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง

ส่วน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการกำหนดโทษของผู้ต้องหาที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ กำหนดไว้ใน “หมวด 7 วินัยและบทลงโทษ” ประกอบด้วย มาตรา 68 ผู้ต้องขังผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานเรือนจํา ข้อบังคับเรือนจํา หรือระเบียบกรมราชทัณฑ์ ให้ถือว่าผู้ต้องขังผู้นั้นกระทําผิดวินัย, มาตรา 69 เมื่อผู้ต้องขังกระทําผิดวินัย จะถูกลงโทษสถานหนึ่งสถานใด ดังนี้ 1.ภาคทัณฑ์ 2.งดการเลื่อนชั้นโดยมีกําหนดเวลา 3.ลดชั้น 4.ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อไม่เกิน 3 เดือน เว้นแต่เป็นกรณีการติดต่อกับทนายความตามที่กฎหมายกําหนด หรือเป็นการติดต่อของผู้ต้องขังหญิงกับบุตรผู้เยาว์ 5.ลดหรืองดประโยชน์และรางวัลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือบางอย่าง 6.ขังเดี่ยวไม่เกิน 1 เดือน 7.ตัดจํานวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษ

ในกรณีและเงื่อนไขอย่างใดจะลงโทษดังระบุไว้ในวรรคหนึ่ง การดําเนินการพิจารณาลงโทษ การลงโทษ การเพิกถอน เปลี่ยนแปลง งด หรือรอการลงโทษ และการอุทธรณ์ รวมทั้งผู้มีอํานาจในการดําเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 70 ในกรณีที่ผู้ต้องขังได้กระทำความผิดอาญาขึ้นภายในเรือนจำและความผิดนั้นเป็นความผิดลหุโทษ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของเรือนจำ ความผิดตามมาตรา 73 หรือความผิดฐานพยายามหลบหนีที่คุมขัง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจวินิจฉัยลงโทษฐานผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้ และจะนำเรื่องขึ้นเสนอต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนหรือฟ้องร้องตามกฎหมายด้วยก็ได้

ความผิดตามวรรคหนึ่งที่ผู้บัญชาการเรือนจำจะใช้อำนาจวินิจฉัยลงโทษทางวินัย ให้เป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

ความในมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิของเอกชนที่จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งตามกฎหมาย.