นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัญหาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ในแหล่งน้ำสาธารณะต่าง ๆ ของประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่ ประกอบกับประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเข้าวัดทำบุญ-ทำทานในวันสำคัญทางพุทธศาสนาหรือวันสำคัญอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่มักมาคู่กันกับการทำบุญ คือ การปล่อยปลา ภายใต้ความเชื่อว่า การทำบุญปล่อยปลานั้น คือ การให้ชีวิต โดยให้โอกาสให้ชีวิตหนึ่งได้มีโอกาสเติบโต ซึ่งถือเป็นกุศลทาน อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าการปล่อยสัตว์น้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นการเพิ่มจำนวนและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติให้คงอยู่ รักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งประกอบอาชีพให้แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไป แต่ในทางตรงกันข้าม การปล่อยสัตว์น้ำโดยมิได้พิจารณาองค์ประกอบ และนิเวศวิทยาแหล่งน้ำและชีววิทยาของสัตว์น้ำ จะเป็นเหมือนดาบสองคมที่จะส่งผลต่อความหลายหลายของชนิดพันธุ์ และสมดุลของระบบนิเวศ การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยทั้งแก่ผู้ขายและผู้ปล่อยสัตว์น้ำ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสื่อสารให้เข้าใจในทิศทางเดียวกันและเพื่อให้การปล่อยสัตว์น้ำเป็นการสร้างบุญอย่างที่ตั้งใจอย่างแท้จริง กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่ดูแลสัตว์น้ำ แหล่งน้ำและนิเวศน์ของแหล่งน้ำ ได้จัดทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกต้อง ผ่านสื่อต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

สัตว์น้ำที่ปล่อยได้ เช่น ปลาตะเพียน ปลากระแห ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อยขาว ปลาโพง (ปลาสุลต่าน) ปลากาดำ ปลายี่สกไทย ปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลาบู่ทราย ปลาสลาด ปลากราย ปลาสวาย ปลากดเหลือง ปลากดแก้ว ฯลฯ ซึ่งปลาเหล่านี้เป็นสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศไทย มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญปลาเหล่านี้ เป็นปลาที่สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปได้

นอกจากนี้ ยังมีสัตว์น้ำที่ปล่อยได้แต่ต้องเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้สัตว์น้ำเหล่านั้นสามารถมีชีวิตรอดและเจริญเติบโตได้ เช่น ปลาไหลนา กบนา ต้องปล่อยในบริเวณที่มีน้ำไหลเอื่อย พื้นที่เป็นดินแฉะ เพื่อปลาไหลจะได้สามารถขุดรูอาศัยอยู่ได้ ส่วนการปล่อยเต่านั้น ไม่แนะนำให้ปล่อย เนื่องจากผู้ปล่อยต้องสามารถแยกได้ว่า เต่าที่จะปล่อยเป็นเต่าบกหรือเต่าน้ำ เพราะหากเรานำเต่าบกไปปล่อยลงน้ำ เต่าบกจะไม่สามารถว่ายน้ำได้และตายในที่สุด

และสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่ง ที่กรมประมงไม่แนะนำให้ปล่อย คือ ปลาดุก เพราะผู้ปล่อยต้องแยกชนิดพันธุ์ของปลาดุกที่ทำการปล่อยได้ โดยสายพันธุ์ปลาดุกที่สามารถปล่อยได้ คือ ปลาดุกนา เท่านั้น ส่วน ปลาดุกเทศ หรือ ปลาดุกรัสเซีย ปลาดุกแอฟริกา (บิ๊กอุย) ห้ามปล่อยเด็ดขาด เพราะเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยอย่างมาก โดยการแยกระหว่างปลาดุกไทยและปลาเทศนั้น ทำได้ยากมาก ดังนั้น การปล่อยปลาดุกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากที่วัด หรือ ซื้อจากหน้าเขียง จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่มากในขณะนี้

สัตว์น้ำที่ห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือ แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น ปลาซัคเกอร์ หรือ ปลากดเกราะ หรือ ปลาเทศบาล ปลาหมอคางดำ กุ้งเครฟิช ปลาหางนกยูง ปลาทับทิม ปลาดุกแอฟริกา เต่าแก้มแดง (เต่าญี่ปุ่น) ตะพาบไต้หวัน และปลาต่างถิ่นสวยงาม ซึ่งสัตว์น้ำเหล่านี้ ถือเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น เอเลี่ยนสปีชีส์ ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศ เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำพื้นเมือง และส่งผลกระทบต่อบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ในกรณีที่สัตว์น้ำเหล่านี้หลุดรอดเข้าไปในบ่อ เช่น ปลาซัคเกอร์ ปลาหมอคางดำ เป็นต้น ถึงแม้ว่าที่ผ่านมากรมประมง ได้ประชาสัมพันธ์ในเรื่องการปล่อยสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังพบกับปัญหาการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลาดุกลูกผสมและปลาดุกบิ๊กอุย ปลาซัคเกอร์ และปลาหมอคางดำ เป็นต้น

กรมประมงขอความร่วมมือประชาชน งด ละ เลิก ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด รวมถึงมีการป้องกันไม่ให้หลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำ และในกรณีที่ไม่ต้องการเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์แล้ว ให้นำมามอบให้กับหน่วยงานของกรมประมงทั่วประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสในการเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำดังกล่าว หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ หรือ สัตว์น้ำต่างถิ่น สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง โทร. 0-2579-5281 หรือ เว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/ifdd