คณะดิจิทัลมีเดีย สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม มหาวิทยาลัยศรีปทุม เร่งสร้าง ‘คน’ ป้อนอุตสาหกรรมอีสปอร์ต พา ‘เด็กเล่นเกม’ เติบโตสร้างอนาคตสดใส ในสายงานอีเวนต์ด้านอีสปอร์ต ซึ่งเป็นอาชีพขาดแคลนเร่งด่วนในตลาดแรงงาน ด้วยการชูจุดเด่น เรียนรู้จากตัวจริง ประสบการณ์จริง มีการจัดสัมมนา อีเวนต์แข่งเกมจริงในแบบเข้มข้นทุกขั้นตอน เรียนจบแล้วทำงานได้ทันที

ประเทศไทย เป็นตลาดใหญ่ด้านอีสปอร์ต มีจำนวนผู้เล่นเกมกว่า 34 ล้านคน มูลค่าตลาดเกมประมาณ 34,000 ล้านบาท แต่ขาดแคลน ‘คน’ หากเร่งสร้างคนออกสู่ตลาด เชื่อว่าจะเป็นการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล

อาจารย์นภนต์ คุณะนิติสาร อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยว่า อุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

ในรายงาน “Thailand Game Industry Report 2023” โดยสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ระบุตัวเลขมูลค่าตลาดเกมในประเทศ 2566 ว่า มีมูลค่ากว่า 34,000 ล้านบาท มีการขับเคลื่อนด้วย จำนวนผู้เล่นกว่า 34 ล้านคน สะท้อนให้เห็นศักยภาพตลาดเกมของไทยว่ามีศักยภาพสูง และอุตสาหกรรมเกมไทยก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเกมไทยหลายบริษัท ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก ประกอบกับประเทศไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ดี จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจและดึงดูดการประกวดแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตจากทั่วทุกมุมโลก

แต่อุปสรรคสำคัญของการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตที่ประเทศกำลังเผชิญคือขาด ‘กำลังคน’ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดอีเวนต์อีสปอร์ต เนื่องจากอีเวนต์ต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องใช้กำลังคนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเกม ซึ่งจัดเป็นกลุ่มอาชีพขาดแคลนและต้องเร่งป้อนเข้าสู่ตลาดให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศไม่สูญเสียโอกาสจากเม็ดเงินมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ

จากปัจจัยดังกล่าว ทาง คณะดิจิทัลมีเดีย จึงได้เปิดวิชาชีพเลือก ‘อีสปอร์ต’ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กที่ชอบการเล่นเกม ได้เข้าสู่สายอาชีพที่ชอบและมีความถนัด สร้างให้เด็กเล่นเกมกลายเป็น ‘กำลังคนที่มีศักยภาพทักษะสูง‘ ที่ออกไปเพิ่มมูลค่าให้กับวงการอีสปอร์ตทั้งในรูปแบบ ‘บุคลากรในองค์กร บริษัท’ หรือเป็น ‘เจ้าของธุรกิจ’

โดยสายงานนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งสายงานที่มีผลตอบแทนสูง สามารถเติบโตได้ในระดับประเทศและระดับโลก ทางคณะได้ออกแบบหลักสูตรให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จาก ‘ตัวจริง’ ไม่ว่าจะเป็นวิทยากรพิเศษจากภายนอกหรือผู้คนในอุตสาหกรรม ก็ได้หมุนเวียนนำความรู้ ประสบการณ์ และเทรนด์เกี่ยวกับอุตสาหกรรม มาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนให้กับนักศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้จาก ‘ประสบการณ์จริง’ จากการลงมือทำ

หลักสูตรสาขาอีสปอร์ต มุ่งสร้างบัณฑิตที่มีทักษะครบวงจร ตั้งแต่การวางแผน การตลาด การจัดการ การเงิน ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ และการแข่งขันจริงเต็มรูปแบบ พร้อมฝึกฝนให้นักศึกษาสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และทำงานเป็นทีม

“นักศึกษาของเราโดดเด่นเรื่องการเขียนโครงการนำเสนอของการจัดแข่งที่ครอบคลุม เนื่องจากได้เรียนรู้การทำงานจริงตั้งแต่ ชั้นปี 2 เทอม 2 รายวิชาการจัดสัมมนา โดยแบ่งหน้าที่ และทำงานเป็นทีมตั้งแต่นำเสนอโครงการจนจัดงานเสร็จ”

“และเมื่อขึ้นชั้นปี 3 เทอม 2 จะได้เริ่มลงสนามการจัดแข่งขันลีกอีสปอร์ตเต็มรูปแบบ ตั้งแต่เขียนโครงการของการจัดแข่งขัน การเลือกเกม การประชาสัมพันธ์รับสมัคร การบริหารจัดการการแข่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดแข่งขันมากแล้ว กว่า 15 รายการ โดยในปี 2566 มีบัณฑิตจบการศึกษา จำนวน 100 คน ในสาขาเกมและแอนิเมชั่น

“คาดว่า นักศึกษาเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่วงการอีสปอร์ต และสายอาชีพเกี่ยวข้องใกล้เคียงได้ทั้งหมด เช่น สายงานอีเวนต์ คนที่ผ่านการจัดงานอีสปอร์ต สามารถเบนเข็มไปทำอีเวนต์ สายงานการตลาด สายงานประชาสัมพันธ์ได้ทันที เพราะพื้นฐานเป็นแบบเดียวกัน” อาจารย์นภนต์ คุณะนิติสาร กล่าวไว้

นายพีรพล สามารถ (แทน) ตำแหน่ง Head public relation and social media ผู้เป็นนักศึกษาปี 4 สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม วิชาชีพเลือก อีสปอร์ต คณะดิจิทัลมีเดีย กล่าวว่า “สาขาวิชานี้ทำให้ได้ต่อยอด ความรักในการเล่นเกม สร้างการเติบโตในสายอาชีพได้อย่างมั่นคง เพราะอุตสาหกรรมอีสปอร์ตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีอนาคตทำงานได้ทั่วโลก ที่สำคัญยังสามารถพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ผู้ปกครองเห็นว่า เด็กเล่นเกม ก็สามารถมีอนาคตที่ดีในสายอาชีพที่ชอบได้อีกด้วย”

“เมื่อก่อน เด็กเล่นเกมจะถูกมองว่าไม่มีอนาคต เพราะการจะพาตัวเองไปเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตให้ได้นั้นมีโอกาสน้อยมาก! คนที่จะเป็นได้ ต้องเป็นคนที่มีความทุ่มเทและเก่งมากพอ”

“แต่การเปิดการเรียนวิชาชีพอีสปอร์ต จากการมองเห็นอาชีพอื่นที่จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมอีสปอร์ต ทำให้เด็กเล่นเกมมีอนาคตในสายอาชีพที่ตัวเองชอบมากขึ้น เพราะในสายอาชีพนี้ ต้องการคนที่ชอบและเชี่ยวชาญเรื่องเกม การเข้าเรียนที่นี้ ทำให้ได้เรียนรู้จากกูรูตัวจริงในอุตสาหกรรม ซึ่งนำประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอด และได้ลงมือจัดงานจริง ๆ ตั้งแต่ต้นไปจนจบ”

“ทั้งหมดนี้ ทำให้เรามีโอกาสได้ค้นหาตัวเองว่าชอบงานในส่วนไหนบ้าง และพร้อมทำงานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ ตัวผมเอง มีประสบการณ์เคยผ่านการจัดอีเวนต์อีสปอร์ตเต็มรูปแบบมาแล้วหลายรายการ จึงมองเห็นภาพรวมของการทำงานอย่างชัดเจน”

นายพีรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า อีเวนต์ Sripatum Esports Festival 2024 ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 รวมถึงการสนับสนุนจากคณาจารย์จากคณะดิจิทัลมีเดีย เป็นลีกการแข่งขันเกม VALORANT และ เกมมือถือ RoV รอบไฟนอล จากนักเรียนและนักศึกษาจากทั่วประเทศไทย ซึ่งอีเวนต์นี้ถือเป็น “ไฟนอลโปรเจกต์” (Thesis) ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานครั้งสุดท้าย ก่อนจบการศึกษาและก้าวสู่สายงานในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก: คณะดิจิทัลมีเดีย ม.ศรีปทุม, Sripatum E-sport Club