นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมติดตามความคืบหน้าการซ่อมแซมรางนำไฟฟ้า (Conductor Rail) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ภายหลังจากเกิดเหตุรางนำไฟฟ้าหลุดร่วงด้านใน ค้างอยู่ด้านบนทางเดินยกระดับ (walkway) และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าร่วงลงสู่พื้นด้านล่าง ช่วงระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) ถึงสถานีศรีอุดม (YL16) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา  

ขณะนี้ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ยังคงเร่งซ่อมแซมแก้ไขติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้า และรางนำไฟฟ้า โดยใช้อุปกรณ์ที่สำรองไว้อยู่มาติดตั้งไปพลางก่อน ระหว่างที่รอรางนำไฟฟ้าที่ส่งมาจากต่างประเทศ เพราะที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับระยะทางที่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด 6.4 กิโลเมตร (กม.)

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นในวันที่ 10 มิ.ย. 67 จะยังไม่สามารถเปิดเดินรถให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และเก็บค่าโดยสารได้ตามปกติตามแผนที่ EBM วางไว้ เนื่องจากต้องรอชิ้นส่วนลอตสุดท้ายจากต่างประเทศ คาดว่าจะมาถึงไทยช่วงต้นเดือน มิ.ย. 67 และจะติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิ.ย. 67

จากนั้น ขร. จะร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (ICE) และ EBM ตรวจสอบความปลอดภัย และทดสอบการเดินรถร่วมกันอีกครั้งให้มีความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจ ก่อนที่จะเปิดให้บริการได้ภายในช่วงครึ่งหลังของเดือน มิ.ย. 67 และจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติ ในอัตรา 15-45 บาท ขณะนี้ปรับลดค่าโดยสาร 20% ตลอดเส้นทางให้กับผู้โดยสารเป็นการเยียวยา

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สาเหตุเกิดจากนอตตัวผู้ (bolt) ที่ยึดแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) บริเวณรอยต่อที่ใช้สำหรับรองรับการขยายตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (expansion joint) ของคานทางวิ่ง (guideway beam) เกิดความเสียหาย

เนื่องจากการติดตั้งระหว่างการก่อสร้างมีความบกพร่อง ส่งผลให้แผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เกิดการเคลื่อนตัวและขบวนรถไฟฟ้าไปกระแทก จึงทำให้แผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) หล่นมากระแทกรางนำไฟฟ้า (conductor rail) ทำให้รางนำไฟฟ้าหลุดร่วง และทำให้ finger plate และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้า (insulator) บางส่วนร่วงหล่นลงมายังพื้นด้านล่าง

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ EBM ได้ส่งชิ้นส่วนนอตตัวผู้ที่เสียหายไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ (Lab) ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสาขาของอัลสตอม ผู้ผลิตและผู้รับเหมาซ่อมบำรุงโครงการฯ ในทวีปเอเชียแปซิฟิก และหน่วยงานทดสอบวัสดุในประเทศไทย เพื่อหาสาเหตุเชิงลึก

พร้อมกันนี้ ยังได้ตรวจสอบนอตตัวผู้ยึดแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่งแล้วทุกจุดตลอดแนวเส้นทาง ตัวใดที่มีปัญหาได้เปลี่ยน และติดตั้งใหม่แล้ว รวมทั้งเพิ่มความถี่ตรวจสอบการคลายตัวของนอตยึด จากทุก 6 เดือน เป็นทุก 2 เดือน และเพิ่มความถี่การตรวจสอบแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่งด้านบนเป็นทุก 7-10 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยต่อการเดินรถด้วย.