สืบเนื่องจากPIER Research Briefเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเศรษฐกิจ(Climate Change and the Economy)” Climate Change กับเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกันอย่างไร?” โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่บทความ PIERspectivesชี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ โดยการรวบรวมและสังเคราะห์งานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศผ่านบทความ PIERspectives นำเสนอแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกและของไทย ภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตและแบบจำลองภูมิอากาศต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบของ Climate Change ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of California San Diego และ คุณสวิสา พงษ์เพ็ชร University of Oxford

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยให้ข้อมูลงานวิจัย ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเศรษฐกิจว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คีย์เวิร์ดสำคัญคือการติดตามสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ส่วนใหญ่จะมองต่อเนื่องนับแต่หนึ่งทศวรรษขึ้นไป

“อุณหภูมิโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่แกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ กิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนที่เร่งให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งแต่ละพื้นที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ทุกภาคร้อนขึ้นโดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก ที่น่าสนใจอุณหภูมิทั้งกลางวันและกลางคืนเพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วงกลางวันจะร้อนขึ้น ช่วงกลางคืนก็อุ่นขึ้น

ถ้าย้อนดูข้อมูลที่ผ่านมา ไม่ใช่ฝนตกมากขึ้น แต่จำนวนวันที่ฝนตกในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง และระยะเวลาฝนตกต่อเนื่องลดลง สิ่งนี้เป็นสัญญาณของภัยแล้ง และนั่นหมายความว่า จากที่จะเห็นฝนตกติดต่อกันหลายวัน จะน้อยลง ฤดูฝนจะสั้นลง และฝนตกแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่อนํ้าท่วมฉับพลันสลับกับภัยแล้ง คาดว่า ประเทศไทยในอนาคตมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุณหภูมิสูงขึ้นและหน้าร้อนยาวนานขึ้น สลับกับปัญหาเรื่องของนํ้าท่วมฉับพลันและภัยแล้ง” โดยเหล่านี้เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการนํ้า

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดร.กรรณิการ์ให้ข้อมูลอีกว่า จากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหากไม่เร่งร่วมมือแก้ไข ไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ฯลฯ คาดว่า มีโอกาสที่อุณหภูมิประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นและถ้ามองไปในอนาคต ความสุดขั้วของอุณหภูมิมีแนวโน้มแผ่กระจายไปในหลายภูมิภาคของประเทศไทย ร้อนเข้มข้นมากขึ้น ร้อนนานขึ้น ช่วงฤดูร้อนมีแนวโน้มจะขยายยาวออกไป โดยสรุปประเทศไทยในอนาคตมีความเสี่ยงต่อปัญหานํ้าท่วมฉับพลัน สลับกับปัญหาภัยแล้

ในแง่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ Climate Change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์และรายได้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งธุรกิจครัวเรือน สถาบันการเงิน และภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เงินเฟ้อและความเหลื่อมลํ้าในระบบเศรษฐกิจ

จากบทความตอนแรกสถานการณ์และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราร้อยเรียงให้เห็นภาพเห็นถึงปัญหาโดยสามารถอ่านฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์สถาบันฯอย่างที่ใกล้ตัวภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยภาคการเกษตรต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว อุณหภูมิที่พอเหมาะที่ทำให้ข้าวออกรวงเติบโตโดยต้องไม่สูงจนเกินไป ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนจะส่งผลกระทบกับผลิตผลของข้าว

ขณะที่ปศุสัตว์ก็เช่นกัน ผลผลิตจากสัตว์ลดลง หรือขณะที่นํ้าท่วม พืชผลเสียหายก่อนเก็บเกี่ยว หรือความเป็นกรดด่างในนํ้าทะเล มีผลต่อเนื่องไปยังเรื่องปะการังฟอกขาว อุณหภูมิสูงยังส่งผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงานไทย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งตัวอย่างในภาคบริการก็ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ Climate Change ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และจิตใจ

“ผลกระทบของ Climate Change ต่อภาคการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว พบว่า แต่ละภาคได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเปิดรับภัยคุกคามและความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ครัวเรือนได้รับผลกระทบจาก Climate Change เช่นกัน ทั้งการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การกระจายตัวของโรคติดต่อ ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข การย้ายถิ่นที่อยู่ ตลอดจนผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินของครัวเรือน”

นอกจากนี้ความเสี่ยงทางกายภาพจาก Climate Change และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินสูงขึ้น ทั้งความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านภาวะตลาด ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ตลอดจนความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ส่วนผลกระทบต่อการคลังภาครัฐ Climate Change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ รายได้และรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งในที่สุดแล้วมีผลต่อหนี้สินและความยั่งยืนทางการคลัง

“Climate Change” ส่งผลกระทบต่อ GDP ทั้งฝั่งอุปสงค์รวม และฝั่งอุปทานรวม กระทบต่อระดับราคา ภาวะเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนต่าง ๆ มีความเปราะบาง และมีความสามารถในการรับมือต่อ Climate Change ที่ต่างกัน

แต่อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า และการปรับตัวต่อ Climate Change ตลอดจนจัดการกับความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่บทบาทของภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้าน Climate Change.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ
[email protected]