เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เอก อังสนาสนนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความเห็นในกรณีนี้ 2 ประเด็น คือ การสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้โปรดเกล้าฯ พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และมีกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบใน 2 ประเด็นนี้ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 และมาตรา 179 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ส่วนกรอบระยะเวลาในการนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาเหมาะสม นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนดังกล่าว หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ก็จะชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายและเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกสอบสวน อย่างไรก็ตาม สำหรับ 2 ประเด็นที่ได้มีการสอบถามไป หน่วยงานรัฐที่มีการสอบถามความเห็นไปจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 และแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานรัฐ มิได้มีผลบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานนั้น อย่างกรณีนี้ นายกรัฐมนตรี อาจจะรับข้อสังเกตมาพิจารณา แต่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ แน่นอนตามที่วินิจฉัยมา แต่เมื่อไหร่นั้น นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร.

พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า การวินิจฉัยของ ก.ค.พ.ตร. เทียบเท่ากับศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งการวินิจฉัยจะมี 2 แนวทาง คือ กรณีแรกเป็นคุณกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ผลก็คือต้นสังกัดจะต้องมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการทันที โดยมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน และเชื่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็จะนำคำวินิจฉัยดังกล่าว เพื่อใช้สิทธิฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ผลคำวินิจฉัยเป็นโทษ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็สามารถร้องศาลปกครองสูงสุดได้ ซึ่งมีกรอบนระยะเวลา 90 วัน ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมาย ไม่ใช่ว่าใครจะมาให้ความเห็นว่าต้องเข้ามาตรา 120 วรรคท้าย หรือ มาตรา 131 ต้องรอ ก.พ.ค.ตร. และศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด

“ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือและส่งเรื่องมาให้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว ตามไทม์ไลน์ รรท.ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยและให้ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อวันที่ 18 เมษายน จากนั้นวันที่ 22 เมษายน ส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล แต่กรณีนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ในประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาพิจารณา ต่อมาวันที่ 9 พ.ค. สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งไปยัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่าคำสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยและให้ออกจากราชการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการจะยกเลิกคำสั่งก็ให้ไปอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร.” ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าว

พล.ต.อ.เอก กล่าวอีกว่า สถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะนี้ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนและกระบวนการทางกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งซึ่งจะมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ คือ 18 เมษายน 67 กระบวนการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในหลายเรื่อง หากมีความล่าช้าออกไป อาจจะเสียสิทธิในการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ขณะเดียวกัน การพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. มีความเป็นอิสระ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ไม่มีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ซึ่งตามขั้นตอนปกติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ แต่กรณีนี้มีการอุทธรณ์และร้องทุกข์หลายหน่วยงาน.