โดยศาลฯ ขีดเส้นตายให้ “นายกฯ เศรษฐา” ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน หรือไม่เกินวันที่ 7 มิ.ย. 2567

ประเด็นร้อนอยู่ตรงที่คำร้องตอนหนึ่ง ชี้ว่านายกฯ บิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคม ทำให้เข้าใจผิดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของ “พิชิต ชื่นบาน” แล้วว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี              

ในเมื่อเป็นเรื่องที่ต้องกางกฎหมายมาต่อสู้และพิสูจน์กัน ทำให้ “นายกฯ เศรษฐา” ต้องอาศัยปรมาจารย์ด้านกฎหมายมาช่วยให้รอดพ้นข้อกล่าวหา จึงหันไปใช้บริการ กูรูกฎหมายขั้นเทพ อย่าง “วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เริ่มจากการไปหารือถึงบ้านพัก ตามด้วยการแต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)” ขณะที่เจ้าตัวยอมรับเรื่องดังกล่าว แต่ยืนยันว่าไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง

ทำให้ “วิษณุ” กลายเป็นผู้ที่กลับเข้าสู่รั้วทำเนียบรัฐบาลหลายหน แม้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 เจ้าตัวเอ่ยวาจาวันอำลาส่งท้ายรัฐบาลชุดที่แล้วว่า ขอพักผ่อน เล่นกับหลานอยู่บ้าน จะใช้เวลากับการเขียนหนังสือ อาจเป็นประธานหรือกรรมการตามบริษัทบ้าง และยังทำหน้าที่ในคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

นับไปนับมา “อาจารย์วิษณุ” ถือว่าทำสถิติที่ไม่เหมือนใคร เพราะร่วมงานกับนายกฯ ในแต่ละสมัยรวมเป็น 9 คน 13 รัฐบาล และเคยรับราชการตำแหน่ง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในปี 2536-2545 หรือ นานกว่า 9 ปี

ไม่ใช่แค่เก่งกาจด้านนิติศาสตร์ แต่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ มีความจำแม่นยำเป็นเลิศ แถมมีคอนเนกชั่นทางการเมือง และทางธุรกิจ

แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการพลิกแพลงข้อกฎหมาย จนถูกตั้งฉายามากมาย ทั้งจาก สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ให้ฉายาเมื่อปี 2548 ว่า “เนติบริกร” เพราะเป็นมือกฎหมายที่ได้ทำงานร่วมกับหลายรัฐบาล มีส่วนในการอธิบายชี้ช่องในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เชี่ยวชาญการพลิกแพลงการใช้กฎหมายที่รัฐบาลมีความชอบธรรม และได้เปรียบฝ่ายที่เห็นต่างเสมอ

และจากความช่ำชองการใช้ข้อกฎหมายขั้นสุด เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ในสมัยรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จึงทำให้ได้รับฉายาจากนักข่าวประจำทำเนียบอีก 3 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2562 ทั้งฉายา “ศรีธนญชัยรอดช่อง”, “ไฮเตอร์เซอร์วิส” และ “เครื่องจักรซักล้าง” ขณะที่กระแสสังคมภายนอกให้ฉายาว่า “บิดาแห่งการยกเว้น

จึงยิ่งน่าจับตามองว่า กูรูกฎหมายผู้นี้จะสามารถนำพาให้ “นายกฯ เศรษฐา” รอดพ้นจากบ่วงกรรมหรือกลเกมการเมืองได้สำเร็จหรือไม่ .