แต่นักบินอวกาศยุคหลัง ๆ อาจจะติดต่อศูนย์บัญชาการฮูสตัน เพื่อรายงานปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเขาสังเกตเห็นจากอวกาศ เช่น ความมหึมาของกองขยะ Fast Fashion ในประเทศชิลี ที่ใหญ่กว่าเทือกเขาใหญ่ ๆ อีกหลายลูก จนต้องถ่ายรูปจากยานอวกาศเก็บไว้ แล้วส่งมาให้ชาวโลกชม

ขยะเสื้อผ้าคงไม่ใช่มีแต่ในชิลี แต่มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมปลายทางไปหมกไว้ในที่ที่ลับตาผู้คน ในพื้นที่ที่กฎหมายอ่อนแอ ระบบภาษีเอื้ออำนวย หรือมีภูมิรัฐศาสตร์ที่เปราะบางเข้าถึงได้ยาก โดยพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็เช่นกัน ที่เป็นปลายทางของ Fast Fashion จากตลาดเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่มาก และถ้าขายไม่ได้ก็ทิ้ง จนกลายเป็นกองขยะไร้ประโยชน์และสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม

คงไม่ต้องรอให้ฮูสตันบัญชาการแก้ปัญหา แต่มี กลุ่มเยาวชนในจังหวัดยะลา ในชื่อของ Concur Patchwork พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็น SE วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งได้รวมตัวกันนำเสื้อผ้ามือสองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาตัดแปรรูป กลายเป็นแฟชั่นสุดคูลผ่านการตัดปะแปะด้วยงานศิลป์ ที่ออกแบบกันเองตามความคิดสร้างสรรค์ของวัยรุ่น แล้วใช้ฝีมือของสตรีด้อยโอกาสในชุมชน ที่เป็นกลุ่มเปราะบางในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นผู้ตัดเย็บ จนนำรายได้สู่ครอบครัวสตรีด้อยโอกาส สตรีเลี้ยงเดี่ยว แม้แต่เยาวชนในชุมชนก็มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เอาเวลาว่างมาสร้างรายได้ ดีกว่าไปเกเรมั่วสุมยาเสพติด และหลังจากจ่ายค่าแรงแล้วกำไร 1 ใน 3 ยังเป็น CSR ไปช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่เปราะบางในสิ่งที่พวกเธอขาดแคลน

ฮุสนีย์ สาแม ผู้นำกลุ่มมีความรู้ทางภาษาศาสตร์ และได้อ่านเรื่องความยั่งยืนของวงการ Fast Fashion ของโลก รู้แนวโน้ม SDG ข้อ 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ที่ผู้คนในโลกจะหันมาสนใจเสื้อผ้ามือสอง เพราะไม่อยากให้ขยะเสื้อผ้าล้นโลก เขาเคยคลุกคลีกับธุรกิจแฟชั่นมือสอง จึงนำความชำนาญด้านการตลาดมา สร้างสรรค์วิสาหกิจเพื่อสังคม SE โดยนำเทคนิคและวิธีคิดวิถีญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ซาซิโกะ” และ “โบโร” ซึ่งชาวญี่ปุ่นทำงานกับคนด้อยโอกาสในชุมชน เพื่อแก้ทั้งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ท่านใดสนใจเสื้อผ้า กระเป๋า หมวกสวย ๆ ลองเข้าไปดูใน Social Media ของ Concur Patchwork แล้วสั่งซื้อออนไลน์ ส่งตรงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออยากให้น้อง ๆ มาออกร้านขายในงานต่าง ๆ หรือดีไซเนอร์รุ่นใหม่อยากร่วมออกแบบ หรือสั่งทำพิเศษ หรือเหล่า Celeb อยากถ่ายรูปช่วยโปรโมต ก็ลองติดต่อทางกลุ่มดูได้นะครับ หรือจะติดต่อผ่าน กสศ. หรือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ก็ได้เพื่อช่วยสนับสนุนน้อง ๆ ให้ช่วยผู้ด้อยโอกาสในชุมชนและช่วยสังคมให้ยั่งยืนตาม SDG และนี่คือ “ฮุสนีย์ที่มิต้องรอฮุสตัน”.