สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ว่า ดาวเทียมเอิร์ธแคร์ (EarthCARE) ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) กับองค์การอวกาศญี่ปุ่น (จาซา) ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดฟัลคอน 9 ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ จากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก เมื่อเวลา 15.20 น. ของวันอังคารที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ (05.20 น. วันพุธตามเวลาในประเทศไทย)

“การส่งดาวเทียมในวันนี้ถือเป็นเครื่องเตือนใจว่า อวกาศไม่ใช่แค่การสำรวจกาแล็กซีและดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกล แต่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจโลกของเรา ซึ่งสวยงามแต่เปราะบางด้วย” นายโจเซฟ อาชบัคเคอร์ ผู้อำนวยการอีเอสเอ กล่าวในคลิปวิดีโอที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ ดาวเทียมเอิร์ธแคร์ ซึ่งมีน้ำหนัก 2 ตัน จะโคจรห่างจากโลกเกือบ 400 กิโลเมตร เป็นเวลา 3 ปี เพื่อตรวจสอบเมฆในรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ตั้งแต่คิวมูลัส และเซอร์รัส ไปจนถึงคิวมูโลนิมบัส เนื่องจากองค์ประกอบของเมฆ ที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งในชั้นโทรโพสเฟียร์ หรือชั้นบรรยากาศต่ำสุดของโลก เป็นปรากฏการณ์ซึ่งหลากหลาย ซับซ้อน และส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ

ด้านนายโดมินิก กิลเลียรอน หัวหน้าแผนกโครงการสังเกตการณ์โลกของอีเอสเอ กล่าวว่า เมฆเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และมนุษย์มีความเข้าใจเกี่ยวกับมันน้อยที่สุด ซึ่งการทำความเข้าใจธรรมชาติของเมฆ กลายเป็นสิ่งจำเป็น

ยกตัวอย่างเช่น เมฆคิวมูลัส ซึ่งมีสีขาว, สว่าง, ประกอบด้วยหยดน้ำ และลอยต่ำ ทำหน้าที่เหมือนร่มกันแดด ด้วยการสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์กลับสู่อวกาศ และทำให้บรรยากาศเย็นลง แต่ในทางตรงกันข้าม เมฆเซอร์รัส ซึ่งประกอบด้วยผลึกน้ำแข็ง และลอยสูง ปล่อยให้รังสีดวงอาทิตย์ลอดผ่าน ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น จากนั้นมันก็ดักจับความร้อนไว้เหมือนผ้าห่ม

“ภารกิจนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาว่า ผลกระทบในปัจจุบันของเมฆ จะรุนแรงขึ้น หรืออ่อนกำลังลง” กิลเลียรอน กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP