เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 พ.ค.67) ร.ต.ท.มิตรชัย นาคแก้ว รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ช่วยราชการงานปราบปรามยาเสพติด กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.ไพศาล วีรกิจพาณิชย์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี เพื่อให้ช่วยติดตามเงินจำนวน 20,000 บาท คืนหลังจากโอนผิดบัญชีผิดไปเข้าบัญชีของ น.ส.เอ (นามสมมุติ) มีการประสานธนาคารขออายัดตืนแล้ว แต่อีกฝ่ายกลับกดเงินไปใช้ทันที เมื่อติดต่อขอคืนกลับได้รับคำตอบว่า ไม่มีเงินเข้ามา ถ้าอยากได้ ก็ไปฟ้องเอาเอง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ร.ต.ท.มิตรชัย ได้ทำบัญชีไว้กับ LINE BK วงเงินกว่าแสนบาท เมื่อวันที่ 2 เมษายน ต้องการใช้เงินจำนวนนี้ ทาง LINE BK จึงได้โอนเงินมาเข้าบัญชีกสิกรไทยที่ผูกไว้กับพร้อมเพย์เป็นเลขโทรศัพท์มือถือของตน แต่ระหว่างทำธุรกรรมอยู่เกิดกดหมายเลขเบอร์โทรศัพท์มือถือผิดไป 1 ตัว จากเลข 8 เป็นเลข 0 ทำให้เงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของ น.ส.เอ จึงโทรศัพท์ไปสอบถาม ปรากฏซ่า น.ส.เอ กลับพูดจาอ้ำ ๆ อึ้งๆ แบ่งรับแบ่งสู้ ก่อนปฏิเสธว่า ไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวโอนเข้ามา ตนพยายามชี้แจงยืนยันและบอกไปว่า ทางธนาคารให้ข้อมูลรายละเอียดกับตนมาหมดแล้ว ว่าเป็นบัญชีของเขา แต่ปลายสายกลับพูดจาดุดัน ว่าไม่ได้ทำผิดอะไร ถ้าอยากได้เงินก็ไปฟ้องเอาเอง

โดยรายละเอียดที่ธนาคารแจ้งมานั้นพบว่า น.ส.เอ กดเอาเงินในบัญชีออกไปใช้เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 5,000 บาท, 4 พ.ค. 5,000 บาท, 9 พ.ค. 500 บาท และ 12 พ.ค. อีก 1,000 บาม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,500 บาท ยังเหลือเงินในบัญชีอีก 8,500 บาท ที่ทางธนาคารอายัดไว้ทัน ภายหลังตนพยายามติดต่อขอเจรจาแต่อีกฝ่ายบล็อกเบอร์มือถือ จึงเชื่อว่า น.ส.เอ มีเจตนาต้องการโกงเงินที่โอนผิดในครั้งนี้ ทั้งที่ตนบอกว่าตนเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน แต่ก็ไม่รู้สึกกลัวเกรง จึงต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่หากเขาสำนึกเอาเงินกลับมาคืนก็จะไม่เอาความ เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นอุทาหรณ์ที่จะต้องระมัดระวังในการทำธุรกรรมการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเงินเข้าบัญชี โดยที่ไม่ใช่เงินของเรา ก็ควรรีบประสานธนาคารตรวจสอบ มิใช้รีบกดเงินดังกล่าวไปใช้ในทันที

ด้าน พ.ต.ท.ไพศาล วีรกิจพาณิชย์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี เจ้าของคดี กล่าวว่า หลักฐานเอกสารต่าง ๆ ที่หมวดมิตรชายนำมาแสดงนั้น สามารถเอาผิดกับ น.ส.เอ ได้ ตนจะออกหมายเรียกให้มาพบก่อน 2 ครั้ง หากไม่ยอมมาพบ ก็จะดำเนินการออกหมายจับนำตัวมาดำเนินคดีทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเคสของการโอนเงินผิดนั้น ตามปกติแล้วหากเจ้าของบัญชีพบว่ามีเงินต้องสงสัยโอนเข้ามาในบัญชี ก็ต้องแจ้งธนาคารตรวจสอบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร หรือหากเจ้าของเงินต้องการเอาเงินคืนทันที ก็ต้องให้ธนาคารอายัดเงินกลับคืนบัญชีเดิม เพื่อป้องกันมิจฉาชีพแอบแฝง ไม่ควรทำธุรกรรมโอนเงินกลับคืนด้วยตนเอง

ขณะเดียวกัน ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ทนายคลายทุกข์ เคยให้ความเห็นแง่มุมทางกฎหมายไว้ว่า เจ้าของบัญชีธนาคารที่มีคนโอนเงินผิดเข้ามานั้น มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้แก่เจ้าของเงิน เพราะถ้าไม่ยอมคืน ก็จะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตาม ป.อาญา 352 วรรค 2 กรณีเจ้าของบัญชีเอาเงินไปใช้ จะมาอ้างขอผ่อนชำระวันละ 10 -20 บาทนั้นไม่ได้ แสดงว่ารู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เงินของตนเอง เป็นการนำเงินไปใช้โดนทุจริต.