เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 (ปีงบประมาณ 2568-2571) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ โดยได้ปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี ตั้งแต่ปี 2567-2571 ลงให้สอดคล้องกับประมาณการครั้งใหม่

เหตุผลของการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งนี้ เป็นผลมาจากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ได้มีมติเห็นชอบมอบหมายให้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินสำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเพื่อให้ทิศทางของการบริหารจัดการการเงินการคลังของประเทศ มีความสอดคล้องกับแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบัน และสอดคล้องกับแนวทางวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง อีกครั้ง

นายชัย กล่าวว่า สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขจีดีพีของไทยใหม่ โดยปี 2567 เดิมอยู่ที่ 2.7% ล่าสุดให้ลดลงเหลือ 2.5%, ปี 2568 เดิมอยู่ที่ 3.3% ลดลงเหลือ 3.0%, ปี 2569-2570 เดิมอยู่ที่ 3.3% ลดลงเหลือ 3.2% และ ปี 2571-2572 เดิมอยู่ที่ 3.2% ลดลงเหลือ 3.0%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และปี 2570 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.1-2.1 ส่วนในปี 2571-2572 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วง 1.3-2.3%  ขณะที่ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ปรับเพิ่มขึ้น 1  หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 2.797 ล้านล้านบาท และปีงบประมาณ 2571 เท่ากับ 3.394 ล้านล้านบาท

ขณะที่ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ปรับเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 2.797  ล้านล้านบาท, ปีงบประมาณ 2568 เท่ากับ 2.887 ล้านล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 เท่ากับ 3.040 ล้านล้านบาท, ปีงบประมาณ 2570 เท่ากับ 3.204 ล้านล้านบาท และ ปีงบประมาณ 2571 เท่ากับ 3.394 ล้านล้านบาท

ส่วนประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 1.22 แสนล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 3.602 ล้านล้านบาท ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 3.752 ล้านล้านบาท ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3.743 ล้านล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3.897 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 4.077 ล้านบาท

ทั้งนี้จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนล้านบาท ทำให้ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 8.05 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.3% ต่อจีดีพี, ปี 2568 อยู่ที่ 8.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อจีดีพี, ปี 2569 อยู่ที่ 7.03 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อจีดีพี, ปี 2570 อยู่ที่ 6.93 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% ต่อจีดีพี และปี 2571 อยู่ที่ 6.83 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อจีดีพี

ขณะที่ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11.131 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62.4% ของจีดีพี และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สำหรับปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 65.7%, ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 67.9%, ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 68.8%, ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 68.9% และ ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 68.6%

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายและนโยบายการคลัง รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง  หากในระยะต่อไปภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม