เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายอำพล แก้วปาน ทนายความผู้รับมอบอำนาจ นายเฉลิม อยู่วิทยา นักธุรกิจชาวไทย เจ้าของธุรกิจกระทิงแดง และผู้ร่วมก่อตั้งเรดบูล เดินทางมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา อดีต ผบช.น. น.ส.อุบลรัตน์ เถาว์น้อย พิธีกรทีวีช่องดังแห่งหนึ่ง ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พร้อมเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50 ล้านบาท

คำฟ้องระบุพฤติการณ์ระบุว่าเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 จำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพิธีกรและผู้ประกาศข่าวในช่องรายการโทรทัศน์ และมีจำเลยที่ 2 เป็นแขกรับเชิญออกรายการอันมีเนื้อหาที่เป็นการหมิ่นประมาท โดยมีการโฆษณาด้วยการบันทึกเสียงและภาพ และได้นำคลิป วีดีโอ หรือภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงและภาพไปกระจายเสียงและภาพในแอปพลิเคชันติ๊กต็อก (TIKTOK ) ชื่อผู้ใช้งาน bonratbonrat ของจำเลยที่ 1 มีผู้ติดตามมากกว่า 26,900 คน มีผู้ถูกใจมากกว่า 219,100 คน และบางคลิปวีดีโอมีผู้ชม มากกว่า 1,400,000 วิว เป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่บุคคลทั่วไปและสาธารณะชนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงได้

โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพิธีกร ได้พาดหน้าคลิปวีดีโอ หรือ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงและภาพ บิดเบือนข้อเท็จจริงอันเป็นการให้เข้าใจ ว่าโจทก์ได้วิ่งเต้นช่วยเหลือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในคดีอุบัติเหตุจราจรรถชน ระหว่าง นายวรยุทธ อยู่วิทยา กับ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ให้พ้นความรับผิดตามกฎหมาย โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความดังกล่าวข้างต้นนั้นปราศจากมูลความเป็นจริง โดยการกระทำของจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อวงค์ตระกูลที่สร้างสมมา ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา

โดยขอให้จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันโฆษณาหรือประกาศคำพิพากษาของศาล และคำขออภัยโจทก์ลงใน เว็บไซต์ท็อปนิวส์ และในรายการข่าวของรายการโทรทัศน์ TOP NEWS และ ในแอปพลิเคชันติ๊กต็อก ชื่อ หมิว อุบลรัตน์ ชื่อผู้ใช้งาน bonratbonrat หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, ผู้จัดการรายวัน ด้วยเนื้อที่เต็มของหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน และให้ลบข้อความและคลิปวีดีโอ หรือภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงและภาพดังกล่าวออกจากแอปพลิเคชัน ติ๊กต็อก ชื่อ หมิว อุบลรัตน์ ชื่อผู้ใช้งาน bonratbonrat ทันที

ศาลอาญาได้รับคำฟ้องเป็นคดีอาญาหมายดำที่ 1642/2567 และนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 2 ก.ย. 2567 เวลา 13.30 น.

นายอำพล แก้วปาน ทนายความผู้รับมอบอำนาจ นายเฉลิม กล่าวภายหลังยื่นฟ้องว่า รายการนี้มี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร เป็นแขกรับเชิญได้มีการบันทึกคลิป VDO แล้วนำไปเผยแพร่ใน ติ๊กต็อก โดยพาดข้อความบนคลิปที่ทำให้ผู้ที่รับชมรับฟัง เชื่อว่านายเฉลิมจ่ายเงิน 300 ล้านบาท เพื่อวิ่งเต้นช่วยเหลือนายวรยุทธ ทั้งที่ความจริงแล้วนายเฉลิมไม่เคยพูดและไม่เคยจ่ายเงิน 300 ล้านบาท เพื่อวิ่งเต้นคดีแต่อย่างใด การกระทำของทั้งสองทำให้ชื่อเสียงและคุณความดีของนายเฉลิมที่สร้างสมมาต้องเสียมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจึงได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งตอนนี้ทีมทนายกำลังดูในส่วนของผู้ที่เข้ามาคอมเม้นท์และแชร์คลิปหากทำให้นานเฉลิมเสียหายก็อาจจะมีการฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก สำหรับคดีนี้เราเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับชื่อเสียงและคุณความดีของนายเฉลิมก็ถือว่าไม่เยอะ

ส่วนที่ถามว่าหากมีการขอไกล่เกลี่ยจะยอมความหรือไม่นั้น ตนคงตอบว่าไม่มีการยอมความ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ในคดีคุณวรยุทธ อยู่วิทยา หลายเรื่อง ทำให้เกิดกระแสสังคมเข้าใจผิดมาตลอด เช่นกรณีที่กล่าวหาว่ามีการลากศพผู้เสียชีวิตไป 200 เมตร มาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งประเด็นนี้คณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2563 ไปแล้วว่าผลการชันสูตรพลิกศพไม่มีร่องรอยและบาดแผลที่เกิดจากการลากศพไปกับถนนตามที่มีการให้ข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด การที่นายเฉลิม ฟ้องในครั้งนี้ก็เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ในการฟ้องดำเนินคดีกับบุคคลที่ชอบบิดเบือนข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ถ้าพบว่ามีบุคคลใดให้ข้อมูลในลักษณะนี้อีกก็จะดำเนินคดีเช่นกันเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนเองและครอบครัวเท่านั้น โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องก็เตรียมพยานขึ้นไต่สวนไว้