เป็นประเด็นดราม่ากันหลายสัปดาห์ทีเดียว หลังจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ปลุกผีจำนำข้าวขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ เมื่อพาไปตรวจสอบโกดังข้าว ลอตสุดท้าย ที่ได้จากโครงการจำนำข้าว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นข้อถกเถียงกันอลวน

แม้ล่าสุด จะผ่านการตรวจสอบแล้วว่า ข้าวไทย 10 ปี ไม่มีสารอันตราย และเพิ่งประกาศทีโออาร์ เปิดประมูลข้าวลอตนี้ ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ ไปสดๆ ร้อนๆ จำนวน 15,000 ตัน แต่เพื่อให้มั่นใจในมาตรฐานข้าวไทย ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงมาตรการกำกับดูแล ควบคุมคุณภาพมาตรฐานส่งออกสินค้าข้าวของไทย ซึ่งกว่าจะส่งออกได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลก  

ในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย กระทรวงพาณิชย์มีการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ซึ่งกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไว้ ดังนี้

  • เมื่อผู้ส่งออกประสงค์จะส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จะต้องยื่นคำร้องต่อกรมการค้าต่างประเทศขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย ขณะเดียวกันต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานสินค้า
  • การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยดังกล่าว จะมีพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ไปปฏิบัติราชการเพื่อสุ่มกำกับการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์)
  • เมื่อผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของบริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานจึงออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ผู้ส่งออกใช้ประกอบพิธีการศุลกากร เพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต่อไป

ที่สำคัญในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย จะตรวจ 2 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สินค้าได้มาตรฐานตามที่กำหนด คือ

  1. ตรวจ ณ สถานที่ส่งออก (ตรวจเบื้องต้น)
  2. การสุ่มตัวอย่าง สุ่มจากกองสินค้าเพื่อให้ได้ตัวแทนสินค้าที่คลอบคลุมสินค้าทั้งหมด ในกรณีสินค้าบรรจุกระสอบ ให้สุ่มชักตัวอย่างทุกกระสอบ
  3. การตรวจทางกายภาพ เช่น ตรวจความบริสุทธิ์ว่ามีข้าวชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปลอมปนหรือไม่ ตรวจขนาดและความยาวของเมล็ด สีของเมล็ด สิ่งเจือปน และความชื้น เป็นต้น โดยจะตรวจทุก 200 ตัน ที่มีการตรวจปล่อย เช่น สินค้า 1,000 ตัน จะตรวจทางกายภาพ 5 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
  4. การจัดทำตัวอย่าง เพื่อนำไปตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงตัวอย่างที่เก็บไว้เพื่อสามารถนำมาตรวจสอบย้อนกลับได้
  5. ตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ (LAB) (ตรวจละเอียด โดยจะตรวจหาค่าต่างๆ ดังเช่นการตรวจ ณ สถานที่ส่งออก แต่จะใช้เวลาตรวจสอบมากกว่าเนื่องจากใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจเพิ่มในบางรายการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำขึ้น เช่น การตรวจความนุ่มโดยการหาค่าอมิโลสและการตรวจความบริสุทธิ์โดยการสลายเมล็ดข้าวในด่าง เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของการตรวจสารตกค้าง จะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อว่าจะให้ตรวจ หรือไม่อย่างไรเป็นกรณีๆ ไป

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังได้กำหนดมาตรฐานแนะนำสำหรับมาตรฐานสินค้า ข้าวหอมไทย ข้าวสีไทย ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวขาว และข้าวนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการส่งออก สำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายในราคาที่เหมาะสม