นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติให้ รฟท. นำเรื่องการปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) กลับไปทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะการย้ายตำแหน่งสถานีราชวิถี จากเดิมอยู่ฝั่งบ้านราชวิถี มาอยู่ฝั่งโรงพยาบาลรามาธิบดี จะเป็นปัญหา หรือส่งผลกระทบต่อโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไม่ เพราะพื้นที่ทั้ง 2 โครงการอยู่ใกล้กัน ทั้งนี้ให้ รฟท. เสนอบอร์ด รฟท. อีกครั้งในเดือน มิ.ย. 67

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับแบบย้ายตำแหน่งสถานีราชวิถีนั้น ได้มีการย้ายตำแหน่งสถานี จากเดิมอยู่ฝั่งบ้านราชวิถี ก็ขยับลงไปทางด้านทิศใต้ และเปลี่ยนมาอยู่ฝั่งโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ใกล้โรงพยาบาลรามาธิบดีมากขึ้น โดยเป็นสถานีใต้ดิน และมีทางเดินลอยฟ้า (สกายวอล์ก) จากสถานีเชื่อมเช้าสู่อาคารของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อได้อย่างสะดวกสบาย ส่งผลให้กรอบวงเงินโครงการเพิ่มขึ้นกว่า 400 ล้านบาท จากวงเงินเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 59 ประมาณ 4.41 หมื่นล้านบาท โดยที่ประชุมขอทราบหลักการเหตุผลของการย้ายตำแหน่งสถานีที่ชัดเจนอีกครั้ง รวมทั้งการเจรจากับเอกชน เพราะที่นำเสนอมาข้อมูลยังไม่ครบถ้วน

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า รฟท. ต้องตอบให้ชัดเจนว่าย้ายสถานีแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร และมีผลกระทบกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินหรือไม่ หากเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานแล้วควรมีเอกสารยืนยันที่ชัดเจน ซึ่งแม้ว่า รฟท. จะนำเสนอว่าหารือกับเอกชน และยืนยันพื้นที่ก่อสร้างกันแล้ว แต่ก็ต้องมีเอกสารยืนยันให้ชัดเจนว่าไม่กระทบใคร เพราะไม่อยากให้อนุมัติแล้วมีปัญหาตามมาภายหลัง ที่ประชุมจึงยังไม่อนุมัติ ต้องการทำให้เรื่องนี้ชัดเจนที่สุดก่อน เพราะกังวลว่าจะกระทบกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน อย่างไรก็ตามปัจจุบัน Missing Link ยังเป็นโครงการที่ รฟท. อยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะยกเลิกดำเนินโครงการ Missing Link แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน จะกังวลเรื่องเส้นทางทับซ้อน และปัญหาการแย่งผู้โดยสารกับ Missing Link หรือไม่ เพราะเส้นทางเดินรถทั้ง 2 โครงการมีเส้นทางบางส่วนอยู่ในแนวเดียวกัน นายอนันต์ กล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะแม้จะแนวเส้นทางเดียวกันคู่ขนานกันไป แต่รถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินไม่มีสถานีจอดที่สถานีราชวิถี โดยรถไฟไฮสปีดฯ เมื่อมาจากอู่ตะเภา จะมาจอดที่สถานีพญาไท และมุ่งหน้าไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นสถานีถัดไป ดังนั้นผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟไฮสปีดฯ และต้องการมายังสถานีราชวิถี หรือบริเวณโรงพยาบางรามาธิบดี ต้องลงต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีพญาไท ทั้งนี้สายสีแดงแบ่งเป็น 2 สายคือ สีแดงอ่อน (East-West) ช่วงศาลายา ตลิ่งชัน บางซื่อ และหัวหมาก และสีแดงเข้ม (North-South) ช่วงรังสิต บางซื่อ และหัวลำโพง

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับโครงการ Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติการก่อสร้างฯ วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 59 ปัจจุบันผ่านมาเกือบ 8 ปีแล้ว ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจน รฟท. ยังอยู่ระหว่างปรับแบบก่อสร้าง และย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน และรูปแบบโครงสร้างสถานี และต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ใหม่ ล่าสุดกรมการขนส่งทางราง (ขร.) จึงไม่ได้นำเส้นทางดังกล่าว บรรจุในแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) แต่หากในอนาคตโครงการนี้ชัดเจน ขร. ก็จะนำมาบรรจุใน M-MAP 2 และเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ต่อไป.