ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ปรากฏการณ์นักตบลูกยางสาวไทย ปัญหา ทางออก” สืบเนื่องจากการที่นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงรายการ “เนชันส์ลีก 2024” พบว่าผลงานในสัปดาห์แรกยังไม่เข้าตาแฟนๆ มากนัก ประกอบกับมีกระแสที่เกี่ยวข้องตามมาในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสะท้อนมุมมองของประชาชนในมิติที่เกี่ยวกับความหวังและความสำเร็จของทีมชาติไทยสำหรับการเข้าร่วมแข่งขันรายการนี้ต่อไป

KBU SPORT POLL ม.เกษมบัณฑิต โดยความร่วมมือของศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์กับหลักสูตรการบริหารนวัตกรรมการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ปรากฏการณ์นักตบลูกยางสาวไทย ปัญหา ทางออก”

สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. 67 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจข่าวสารทางการกีฬาซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,186 คน แบ่งเป็นเพศชาย 673 คน คิดเป็นร้อยละ 56.75 และเพศหญิง 513 คน คิดเป็นร้อยละ 43.25

สรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ โดยภาพรวมพบว่า พัฒนาการของทีมชาติไทยกับการแข่งขันในสัปดาห์แรก ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.20 ต้องปรับปรุงแก้ไข รองลงมาร้อยละ 25.90 ถดถอย ร้อยละ 23.40 คงเดิม และร้อยละ 15.50 ดีขึ้น

โอกาสของความสำเร็จสำหรับการแข่งขันในสัปดาห์ต่อไป ส่วนใหญ่ร้อยละ 25.90 มีโอกาสค่อนข้างน้อย รองลงมาร้อยละ 22.70 มีโอกาสค่อนข้างมาก ร้อยละ 18.30 มีโอกาสมาก ร้อยละ 14.50 มีโอกาสน้อย ร้อยละ 10.10 ไม่มีมีโอกาสเลย และร้อยละ 8.50 ไม่แน่ใจ

ปัจจัยหรือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของทีมชาติไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.60 ศักยภาพและความสามารถของหัวหน้าผู้ฝึกสอน รองลงมาร้อยละ 24.10 ศักยภาพและความสามารถนักกีฬา ร้อยละ 18.60 ระยะเวลาในการเตรียมทีม ร้อยละ 13.70 ศักยภาพและความสามารถของคู่แข่งขัน ร้อยละ 12.40 การบริหารจัดการของสมาคมฯ และอื่นๆ ร้อยละ 2.60

ผู้รับผิดชอบกับผลงานที่ไม่เข้าตาประชาชน ส่วนใหญ่ร้อยละ 32.90 หัวหน้าผู้ฝึกสอนและทีมงาน รองลงมาร้อยละ 28.50 นายกสมาคม ร้อยละ 18.60 ฝ่ายพัฒนาเทคนิค ร้อยละ 12.10 นักกีฬา ร้อยละ 6.50 สภากรรมการฯ และอื่นๆ ร้อยละ1.40

ข้อเสนอแนะหรือทางออกสำหรับความสำเร็จของทีมชาติไทย อันดับหนึ่ง ร้อยละ 86.00 เสนอให้เปลี่ยนหัวหน้าผู้ฝึกสอน อันดับสอง ร้อยละ 80.50 จ้างผู้ฝึกสอนต่างชาติมาทำทีม อันดับสาม ร้อยละ 75.20 เตรียมทีมในระยะเวลาที่เหมาะสม อันดับสี่ ร้อยละ 72.90 เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับนักกีฬา อันดับห้า ร้อยละ 68.30 ปรับปรุงการบริหารของสมาคม