จากกรณี 40 สว. เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้อง พร้อมสั่งนายกฯ เศรษฐา ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น
-ด่วน! ศาลรธน. มีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้อง 40 สว. ยื่นร้องนายกฯ แต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวทั้งหมด ได้มีการเผยแพร่ดังนี้ วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้
(1) ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 4/2563)

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่

ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 18 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา

(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (24) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 8/2567) ศาลจังหวัดนครนายกส่งคำโต้แย้งของจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 923/2566 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (24) ที่บัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา

(3) พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 45 วรรคสี่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 32/2566) ศาลฎีกาส่งความเห็นของศาลจังหวัดระนอง ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ คม3/2562 คดีหมายเลขแดงที่ คม4/2563 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 45 วรรคสี่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือไม่

ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ ๔) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายปัญญา อุดชาชน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ) วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา ๔๕ วรรคสี่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม และกำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

(4) ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567)

สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 3 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82

ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ) มีคำสั่งรับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54

สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 2 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม) มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์) ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่ แจ้งให้คู่กรณีทราบ..