สภาพอากาศมีผลต่อการเดินทางโดยเครื่องบินเป็นอย่างมาก แม้จะเช็กสภาพอากาศก่อนขึ้นบินแล้ว แต่ก็ใช่ว่าเบื้องหลังฟ้าสวยๆ ที่เรามองเห็นจะไม่มีอันตรายใดๆ ซ่อนอยู่..

จากรายงานข่าวว่า เที่ยวบิน SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ ทำการบินด้วยโบอิ้ง 777-300ER ต้องทำการเปลี่ยนเส้นทางฉุกเฉินมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากได้รับรายงานว่า มีผู้โดยสารบาดเจ็บ 30 คน และเสียชีวิต 2 คน นั้น

ทำความรู้จักกับ CAT (Clear Air Turbulence) หรือความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร อันตรายแค่ไหน..

CAT (Clear Air Turbulence) คือความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส
เมฆทุกชนิดที่เกิดขึ้นในท้องฟ้าสามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึงความปั่นป่วนได้ว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งนักบินจะต้องเลือกว่าจะหลีกเลี่ยงหรือบินผ่านเข้าไปในเมฆชนิดนั้น เมื่อนักบินสังเกตเห็นเมฆปรากฏอยู่เบื้องหน้า นักบินสามารถประเมินความรุนแรงของความปั่นป่วนได้และอาจตัดสินใจลดความเร็วของเครื่องบินลงหรือปฏิบัติการอย่างอื่น ตามคำแนะนำเพื่อผจญกับความปั่นป่วนนั้น แต่มีความปั่นป่วนอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งเตือนใดๆ ที่มองเห็นได้มีเครื่องบินจำนวนมากที่บินอยู่ในบริเวณที่ไม่มีก้อนเมฆปรากฏอยู่เลย แต่เครื่องบินได้รับการกระแทกหรือราวกับถูกจับโยนเหมือนกับเรือที่แล่นอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยระลอกคลื่น เรียกความปั่นป่วนในลักษณะนี้ว่า ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส

การเกิด CAT ร่วมกับ Jet Streams
สาเหตุของความปั่นป่วนบริเวณ Jet Stream เกิดจากด้านในสุดของแกนของ Jet Stream อาจมีความเร็วสูงสุดถึง 250 mph แต่ถัดออกมาด้านนอก ความเร็วลมก็จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงขอบนอกอาจเหลือเพียง 50 mph โดยในแต่ละจุดของความแตกต่างของความเร็วลม จะเกิดกระแสอากาศหมุนวน เกิดความปั่นป่วน เรียกว่า CAT ปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยเมื่อเครื่องบินบินผ่านบริเวณ CAT คือเครื่องบินจะเกิดการโยนตัวอย่างทันทีทันใด หรือที่เรียกว่า ตกหลุมอากาศ (Air Pocket) ระดับความรุนแรงของความปั่นป่วนนี้อาจอยู่ในขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรง

ลำดับชั้นความรุนแรงของความปั่นป่วน
การแบ่งชั้นความรุนแรงความปั่นป่วน โดยความหมายในตารางนี้ ใช้ได้กับทุกๆ คน โดยนักบินประเมินค่าความรุนแรงได้ตามชนิดของเครื่องบินนั้นๆ ซึ่งการประเมินความรุนแรงนี้ต้องทำตามแนวทางการปฏิบัติงานและข้อจำกัดของนักบินแต่ละบุคคล

ตาราง แสดงความรุนแรงของความปั่นป่วนในบรรยากาศ

บริเวณของ CAT จะเคลื่อนที่ไปในทิศตะวันออกเสมอ โดยจะเคลื่อนที่ตามแนวปะทะอากาศ (Front) ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของผิวพื้นโลก

อันตรายของ CAT (Clear Air Turbulence) ต่อเครื่องบินที่กำลังทำการบินในอากาศโดยเฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ทำการบินในระดับสูงๆ เมื่อเครื่องบินเข้าสัมผัสกับบริเวณของ CAT จะประสบกับความปั่นป่วนของอากาศ เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินอย่างรุนแรง ทำให้ผู้โดยสารตกใจ ขาดความสุข หรือบางครั้งรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องบินและผู้โดยสารบาดเจ็บได้ ดังนั้น ก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการบินจะต้องศึกษาตำแหน่งของ CAT ให้ละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน (Flight folder) และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยง หรือลดความรุนแรงของ CAT เพื่อให้เกิดความสะดวก ความสุข ความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพของการบิน..

ขอบคุณข้อมูล : กองอุตุนิยมวิทยาการบิน