นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (134-135) ว่า ประเทศไทยกําลังจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ และใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย และส่งผลให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำได้ในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก นอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายนและตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในหลายพื้นที่และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบในหลักการร่างการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ 1. การป้องกันและเตรียมความพร้อม ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ สำรองเมล็ดพันธุ์ สำรองเสบียงอาหารสัตว์ สำรองเครื่องจักรและเครื่องมือ ตลอดจนสร้างความเข้าใจกับความเสี่ยง 2. การเผชิญเหตุและการหยุดยั้งความเสียหาย ได้แก่ การเร่งระบายน้ำ สนับสนุนเรือตรวจการและเจ้าหน้าที่ เป็นต้น และ 3. การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม ได้แก่ สำรวจและประเมินความเสียหาย จัดหน่วยเคลื่อนที่ บำบัดน้ำเสีย ปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติม ในรายละเอียดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ตามข้อสั่งการของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ลงพื้นที่พบปะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยกำชับเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติให้ครบถ้วนทุกรายอย่างรวดเร็วที่สุด