เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 พ.ค. ที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ภายใต้การอำนวยการของฝ่ายประชาสัมพันธ์ และผู้ได้รับมอบอำนาจจาก ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้นำสื่อมวลชน จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด หรือ สำนักข่าวเดลินิวส์ 2.บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ช่อง 3 3.บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ ข่าวสด 4.บริษัท Six Fingers Media Co., Ltd. หรือ อีจัน 5.บริษัท สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. จำกัด หรือ INN NEWS 6.บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ Nation และ 7.บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด หรือ สำนักข่าววันนิวส์ (ONE) เข้าเยี่ยมชมสถานที่ภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและเห็นสถานที่จริงขณะที่ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง เสียชีวิตหลังทำการอดอาหารและน้ำประท้วงกระบวนการยุติธรรมนานกว่า 100 วัน จากการไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นศาล และตอบคำถามเกี่ยวกับอุปกรณ์และเครื่องมือในการรักษาพยาบาล

สำหรับบรรยากาศเบื้องต้นบริเวณทางเข้าอาคารทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เริ่มแรกทางด้านขวามือจะพบกับห้องทำงานของฝ่ายเลขานุการ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากนั้นเมื่อเดินเข้าประตูภายในอาคารจะพบกับตู้ฝ่ายรักษาการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ดำเนินการตรวจร่างกายอย่างเข้มงวด พร้อมแจ้งเงื่อนไขและหลักการปฏิบัติ โดยห้ามนำทรัพย์สิน โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) เข้าไปภายในอย่างเด็ดขาด จากนั้นมีการแลกบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนแก่เจ้าหน้าที่ และเมื่อเดินผ่านเข้าไปจะพบว่ามีเสาธง 1 ต้นตั้งอยู่บนสนามหญ้าขยาดย่อม ส่วนทางขวามือจะเป็นอาคารแดนหญิง สูง 2 ชั้น ทาสีขาว (สำหรับผู้ต้องขังป่วยเพศหญิงเท่านั้น) ขณะที่ทางซ้ายมือจะเป็นอาคารทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สูง 9 ชั้น ทาสีขาว (สำหรับผู้ต้องขังป่วยเพศชายเท่านั้น) ส่วนสาเหตุที่อาคารผู้ป่วยนอกเวลาของผู้ต้องขังมีจำนวนสูงถึง 9 ชั้น ทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้ข้อมูลว่า เนื่องมาจากผู้ต้องขังชายมีจำนวนเยอะกว่าผู้ต้องขังหญิง

สำหรับอาคารแดนหญิง (ห้องผู้ป่วยรวมเฉพาะเพศหญิง) สูง 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 จะมีโต๊ะของเจ้าหน้าที่จำนวน 3 โต๊ะ พร้อมเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แฟ้มข้อมูลต่าง ๆ และชั้นล็อกเกอร์ ตั้งวางไว้บริเวณทางเดินในลักษณะไม่ได้เป็นการกีดขวาง ส่วนถัดจากนั้นจะเป็นห้องกระจก และเมื่อมองไปภายในห้องกระจกจะมีห้องจำนวนหนึ่งซอยไว้อีกที พร้อมกับมีโต๊ะสีดำยาวประมาณ 2 เมตร วางตั้งไว้ตรงกลางห้องสำหรับเจ้าหน้าที่นั่งประชุมและยังมีเครื่องโทรทัศน์ 1 เครื่อง ติดตั้งไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ ส่วนห้องต่าง ๆ ที่ถูกซอยนั้น มีดังนี้ ซ้ายสุดติดทางเดินบันไดจะเป็นห้องเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ไวรัสโควิด-19 ภายหลังผู้ต้องขังออกไปตรวจร่างกายหรือรักษาอาการเจ็บป่วยยังสถานพยาบาลอื่น ถัดมาจะเป็นห้องจัดเตรียมหรือห้องเตรียมการสำหรับกลุ่มคนไข้แอดมิต (Treatment) จำนวน 2 ห้อง ถัดมาเป็นห้อง ICU ซึ่งมีขนาดเล็ก หากคำนวณด้วยสายตา สามารถยืนได้ไม่เกิน 4 คน และมีเตียงสำหรับการกู้ชีพ 1 เตียงวางไว้กลางห้อง มีอุปกรณ์สำหรับกู้ชีพฉุกเฉิน ได้แก่ เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ Defibrillator, เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจของหัวใจผู้ป่วย หรือ EKG Monitor ซึ่งจะใช้วัดทุก 3 นาที, กล่อง Magic box, ยาทุกชนิดสำหรับการรักษาภาวะวิกฤติฉุกเฉิน, สารอื่นในการขยายหลอดเลือดช่วยการเต้นของหัวใจ เช่น กลูโคส อะดรีนาลีน, เครื่องวัดความดัน, เครื่องคำนวณอัตราการเต้นของหัวใจ, ท่อช่วยหายใจ, กล่องอุปกรณ์ช่วยหายใจ หรือ Ambu Bag เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กล้องวงจรปิด (CCTV) บริเวณชั้น 1 มีจำนวน 4 ตัว แบ่งเป็น ทางเดินด้านนอก 2 ตัว และภายในห้องกระจกอีก 2 ตัว

ถัดไปจากห้อง ICU เป็นห้องพักของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และแพทย์ โดยมีแพทย์ประจำตึก จำนวน 2 ราย และพยาบาล จำนวน 6 ราย ซึ่งในวันทำการปกติจะมีพยาบาลครบ ขณะที่วันหยุดราชการ หรือวันนักขัตฤกษ์จะเหลือพยาบาลเพียง 2 ราย และแพทย์ 1 ราย และส่วนสุดท้าย คือ ห้องเก็บอุปกรณ์ ส่วนบริเวณชั้น 2 ก่อนเดินขึ้นบันไดจะมีชั้นวางรองเท้าสูงเพียง 30 ซม. และเมื่อเดินขึ้นบันไดพบว่าขนาดของบันไดมีขนาดไม่เกิน 2.5 เมตร และเมื่อเดินดูทั้งชั้น 2 จะมีห้องขนาดใหญ่ทั้งหมด 4 บล็อก (Blog) เลขที่ 2/1-2/4 โดยทุกห้องเป็นห้องพัดลมทั้งหมด และมีห้องน้ำอยู่ด้านในสุด ส่วนทางเดินหน้าห้องมีเชลฟ์วางหนังสือ 1 ตู้ ความสูง 1 เมตร และมีที่นั่งม้าหินยาวทอดริมระเบียง ขณะที่ห้องเลขที่ 2/1-2/2 พบว่ามีเตียงวางทั้งหมด 10 เตียง โดยไม่มีกระจกกั้นใด ๆ ขณะที่ห้องเลขที่ 2/3-2/4 จะถูกซอยไว้ทั้งหมด 4 ห้อง (พร้อมเตียง 4 เตียง ขนาด 3 ฟุต มีหมอน 2 ใบ คือ สีน้ำตาล 1 ใบ และสีขาว 1 ใบ ผ้าห่มสีฟ้า 1 ผืน และเตียงถูกปูด้วยผ้าปูสีขาว) และมีกระจกพร้อมติดตั้งลูกกรงสีน้ำตาล ขณะที่ในส่วนทางเดิน หรือปลายเท้าของผู้ป่วย จะเป็นเตียงนอนและที่นั่งสำหรับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสรจ.) ซึ่งจะสวมเสื้อสีฟ้า จำนวน 1 รายต่อ 1 บล็อก รวมทั้งหมดบนชั้น 2 มีเจ้าหน้าที่ อสรจ. รวม 4 ราย อีกทั้งจะมีป้ายวางบริเวณหน้าห้องผู้ป่วยแต่ละบล็อก เพื่อบอกจำนวนผู้ต้องขังป่วยภายในห้องนั้น ๆ ว่ามีกี่ราย เป็นศาสนาใดบ้าง และมีกี่รายออกไปศาล แต่ประการสำคัญ คือ มีกล้องวงจรปิด (CCTV) ติดตั้งอยู่ช่วงหน้าทางเดินโดยมีมุมที่สาดไปถึงเตียงนอนของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง

สำหรับกรณีของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง เมื่อครั้งยังมีชีวิต หรือเมื่อครั้งกลับมาจากการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วันที่ 4 เม.ย.67 บุ้งได้นอนพักที่ห้องผู้ป่วยเลขที่ 2/3 โดยใน 1 ห้อง มีขนาดไม่เกิน 3 เมตร และภายในแต่ละห้องมีเตียง 1 เตียง ด้านศีรษะวางชิดกำแพง ส่วนเยื้องกับเตียงนอนด้านขวามีที่ติดตั้งสำหรับเครื่องออกซิเจน ขณะที่ด้านข้างชิดกับกระจก มีการวางตู้ 1 ใบ ความสูงระดับเอว ด้านบนตู้มีการวางยาสำหรับรักษาการเจ็บป่วยเบื้องต้น อาทิ ยาแก้ปวดท้อง ยาลดไข้ เครื่องวัดความดันแบบพกพา ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล ประมาณ 3 แท่ง เจลกดแอลกอฮอล์ เป็นต้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่พาเยี่ยมชมยืนยันว่า น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง และ น.ส.ทานตะวัน หรือ ตะวัน ได้ขอนอนเตียงเดียวกัน ทั้งนี้ ทุกห้องผู้ป่วยจะมีการล็อกกุญแจจากด้านนอกไว้ โดยผู้ถือกุญแจที่สามารถไขได้จะเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

ประเด็นเรื่องรถนําตัวผู้ต้องขังป่วยส่งโรงพยาบาลแม่ข่าย (Ambulance) นั้น หากเกิดภาวะวิกฤติฉุกเฉินแก่ผู้ต้องขังป่วย รถประเภทดังกล่าว ซึ่งมีจำนวน 2 คัน โดย 1 ในนั้น คือ รถทะเบียน 8 กช 4837 กรุงเทพมหานคร เป็นรถที่ใช้นำตัว น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ซึ่งมีภาวะฟุบ วูบหมดสติ จับสัญญาณชีพจรด้วยมือไม่ได้ ออกจากแดนหญิง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งรถจะขับออกมาจากลานจอดรถที่บริเวณด้านหน้าอาคารทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมีระยะทางไม่เกิน 50 เมตร ก่อนเข้าประตูแดนหญิง และเข้าจอดเทียบบนทางลาดใต้อาคารเพื่อรับตัวผู้ป่วย ก่อนขับวนออกประตูสำหรับรถนำส่งผู้ป่วย ซึ่งเป็นประตูเหล็กม้วน ส่วนอุปกรณ์ภายในรถพยาบาล ยกตัวอย่างเช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED​), หน้ากากออกซิเจน, เครื่องช่วยหายใจแบบบีบมือ (Ambu Bag), ถังออกซิเจน, เครื่องใส่ท่อช่วยหายใจ (Laryngoscope), กระเป๋าช่วยชีวิตฉุกเฉิน, ชุดเฝือกลม, ชุดล็อกศีรษะ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับจำนวนผู้ต้องขังที่ต้องรักษาภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 424 ราย เป็นชาย 370 ราย และหญิง 54 ราย (อัปเดตวันที่ 20 พ.ค.67)

นอกจากนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามรายละเอียด ภายในห้อง ICU แต่เจ้าหน้าที่ที่พาเดินเยี่ยมชมไม่สามารถตอบแบบลงรายละเอียดเชิงลึกได้ ระบุเพียงว่าภายในห้อง ICU มีอุปกรณ์ใดบ้างสำหรับการกู้ชีพในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน และยืนยันว่ามียารักษาโรคครบทุกประเภท และเมื่อถามถึงเหตุการณ์วันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถบอกได้ ระบุเพียงว่าเป็นไปตามที่ผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์แถลงไป ส่วนจุดข้อสงสัยตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากที่บุ้งลุกขึ้นมานั่งและล้มฟุบลงไป เจ้าหน้าที่ อสรจ. ทั้ง 4 รายได้ยกตัวบุ้งพร้อมที่นอนลงมาจากชั้น 2 ของอาคารมายังห้องไอซียูด้านล่าง บริเวณชั้น 1 แต่ผู้สื่อข่าวสังเกตว่าขนาดพื้นที่บริเวณทางขึ้นบันไดชั้น 1 มีโต๊ะกั้นอยู่ อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการยกที่นอนที่มีร่างบุ้งอยู่ด้านบนมาห้อง ICU ได้ ขณะที่ประตูเข้า-ออกห้องผู้ป่วยทุกห้องจะมีการล็อกแม่กุญแจจากด้านนอก ดังนั้น ขณะเกิดเหตุมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่ อสรจ. อาจจะต้องตะโกนให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ขึ้นมาเปิดประตูก่อนจะทำการยกตัวบุ้งพร้อมที่นอนลงไปยังห้อง ICU บริเวณชั้น 1