กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ขึ้นมาทันที ภายหลังจากที่ทนายความรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการขอเปิดรับบริจาคจากประชาชน เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีที่ทนายเปิดรับบริจาค โดยระบุว่า “การขอรับบริจาค ผิดกฎหมายหรือไม่?” มีทนายความท่านหนึ่ง โพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ ความว่า “ร่วมสนับสนุนการทำงานของทนาย…. พร้อมระบุบัญชีออมทรัพย์เลขที่…”

การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ มีหลักกฎหมายให้พิจารณาอยู่หลายเรื่องดังนี้
1. พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 มาตรา 5 และ มาตรา 8
2. พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มาตรา 13
3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 แล้วแต่กรณี
4. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1)

พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
“การเรี่ยไร” หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สิน ที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย
มาตรา 5 ห้ามมิให้จัดให้มีการเรี่ยไร หรือทําการเรี่ยไร ดังต่อไปนี้
(1) การเรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้หรือชดใช้แก่จําเลยเพื่อใช้เป็นค่าปรับ เว้นแต่จะเป็นการเรี่ยไรในระหว่างวงศ์ญาติของจําเลย
(2) การเรี่ยไรโดยกําหนดเก็บเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นอัตราโดยคํานวณตามเกณฑ์ปริมาณสินค้า ผลประโยชน์หรือวัตถุอย่างอื่น
(3) การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมทรามแก่ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

มาตรา 8 การเรี่ยไรในถนนหลวงหรือในที่สาธารณะ การเรี่ยไร โดยโฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ ด้วยวิทยุกระจายเสียงหรือด้วยเครื่องเปล่งเสียงจะจัดให้มีหรือทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ข้อความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับแก่
(1) การเรี่ยไรซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับยกเว้นตามมาตรา 6
(2) การเรี่ยไรเพื่อกุศลสงเคราะห์ใน โอกาสที่บุคคลชุมนุมกันประกอบศาสนกิจ
(3) การเรี่ยไร โดยขายสิ่งของในงานออกร้าน หรือในที่นัดประชุมเฉพาะแห่งอันได้จัดให้ขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคแรกมาตรา 8 วรรคแรก มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559
มาตรา 13 ห้ามบุคคลใดทำการขอทานการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขอทาน
(1) การขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจาหรือการแสดงกิริยาอาการใด
(2) การกระทำด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้
มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1)โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

จากบทกฎหมายดังกล่าว ผมความเห็นว่า การโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ (เพจเฟซบุ๊ก)ที่เปิดเป็นสาธารณะนั้น มีเจตนาที่จะให้ประชาชนทั่วไปที่อาจเข้าถึงได้ให้ร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของทนาย น่าจะเป็นการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 มาตรา 5(2), (3) มาตรา 8, มาตรา 17 มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มาตรา 13 (1),(2) เนื่องจากเป็นการขอรับบริจาคเงินมาเลี้ยงชีพ (ทนายความลัทธิเชื่อมจิต) ตามมาตรา 19 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ การขอรับการสนับสนุนเงินบริจาคนั้น หากมีการหลอกลวงหรือมีเจตนาในการฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชน ก็จะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 แล้วแต่กรณี รวมไปถึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท สุดท้าย ก็อาจจะถูกตรวจสอบทรัพย์สิน เนื่องจากความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชนนั้น เป็นความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อีกด้วย

นอกจากนี้ การกระทำของทนายความคนดังกล่าวยังอาจเข้าข่าย ผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 18 กล่าวคือ “ประพฤติตนเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ” และหากมีรายได้จากการบริจาค ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องการเรียนท่านอธิบดีกรมสรรพากรให้ช่วยตรวจสอบหน่อยครับ

“ผิดหรือไม่อยู่ที่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี และศาลท่านจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษา, ส่วน ปปง., กรมสรรพากร และคณะกรรมการมรรยาททนายความ ต้องเตรียมตัวแล้วละครับ”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @มูลนิธิทนายกองทัพธรรม