วันที่ 20 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัว 1.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 1.7% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 และ ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2-3% หรือค่ากลาง 2.5% ปรับลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนไว้ที่ขยายตัว 2.7% มีช่วงขยายตัว 2.2-3.2% จากความเสี่ยงภายนอกประเทศมีมาก, การกีดกันทางการค้าโลก, เศรษฐกิจการเงินโลกมีความไม่แน่นอน และความขัดแย้งระหว่างประเทศ

โดยเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 2566 โดยในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก 1.การเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ จากงบประมาณปี 2567 จะเริ่มใช้ในปีนี้ 2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง 3.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และ 4. การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

นอกจากนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.1-1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2%

สำหรับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงปี 2567
1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง

  • ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs

2. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องต่อผลผลิตภาคการเกษตร

  • ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากเอลนีโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปี ประเทศไทยมีโอกาสเข้าสู่ลานีญาซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาอุทกภัย

3. ความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

  • ทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งของหลายประเทศ