จากกรณี พิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ จะส่งโบราณวัตถุ 2 ชิ้น คืนให้ประเทศไทย ประกอบไปด้วย โกลเด้น บอย (Golden Boy) ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองทั้งองค์ และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ โดยจะส่งคืนให้ไทยในวันจันทร์ที่ 20 พ.ค. 67 และจะถึงที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 21 พ.ค. 67 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า พบที่บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทย คือหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ ขแมร์บอนด์ และขแมร์โกลด์ ที่เขียนโดย ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำโกลเด้นบอยออกนอกประเทศ ที่ระบุชัดเจนว่า โบราณวัตถุโกลเด้นบอย พบที่ จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทย โดยมีคำว่า “ละหาน” และ “บ้านยาง” อยู่ในพิกัด

ทำให้ทีมงานนักโบราณคดีของไทย นำมาต่อจิ๊กซอว์ และใช้เวลาศึกษาอยู่นานกว่า 3 ปี จนทราบแน่ชัดว่า มีชาวบ้านขุดพบที่หมู่บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เมื่อลงพื้นที่ไปสำรวจก็พบกับครอบครัวที่ขุดโบราณวัตถุโกลเด้นบอยได้ จึงนำไปดูร่องรอยของฐานประติมากรรมสำริดดังกล่าว ซึ่งอยู่ในปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา

ดร.ทนงศักดิ์ ระบุต่อว่า การค้นพบประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอยในครั้งนี้ มีความสำคัญมากเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเชื่อของอาณาจักรเขมรโบราณแบบเดิมโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะลักษณะของรูปหล่อโกลเด้นบอย มีลักษณะเหมือนรูปสลักที่ปราสาทหินพิมาย ไม่เหมือนพระศิวะที่เคยเห็นโดยทั่วไป ดังนั้น จึงน่าจะเป็นรูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งพระองค์เป็นต้นราชวงศ์มหิธรปุระ สืบเชื้อพระวงศ์มาจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่สร้างปราสาทหินเขาพระวิหาร โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ได้สร้างปราสาทหินพิมายขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรเขมรโบราณทั้งหมด ทำให้เราต้องเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ จากเดิมที่เคยเชื่อว่า อาณาจักรเขมร แผ่มาจากทางฝั่งกัมพูชามาสู่ที่ราบสูงโคราช

แต่จากหลักฐานใหม่ทำให้รู้ว่า อาณาจักรขอมเคยยิ่งใหญ่อยู่บนที่ราบสูงโคราชมาก่อน แล้วจึงแผ่ไปทางฝั่งเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา ในภายหลัง และหลักฐานที่ชัดเจนก็คือ หลานของพระองค์ คือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่สร้างปราสาทนครวัด และที่ชัดที่สุด คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างปราสาทบายน ที่นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน เช่นเดียวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เพราะฉะนั้นการนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานลักษณะนี้ มีการสืบทอดกันมาจนถึงยุคสุดท้ายของวัฒนธรรมเขมร และที่สำคัญก่อนหน้านั้น ก็มีการค้นพบโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย ซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1300 อยู่ห่างจากจุดที่พบโกลเด้นบอยเพียง 5 กิโลเมตร ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าประติมากรรมหล่อสำริดโกลเด้นบอยที่มีอายุราว พ.ศ. 1623 อายุห่างกว่ากัน 300 กว่าปี

ต่อมา ผู้สื่อข่าวรายงานเดินทางไปที่บ้านโป่งสะเดา หมู่ 20 ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งปราสาทบ้านยาง และเป็นจุดที่นักวิชาการทางโบราณคดี ระบุว่าเป็นจุดที่ตั้งของโกลเด้นบอยที่หายไป ปัจจุบันกลายเป็นศาลากลางหมู่บ้าน โดยส่วนของปราสาทได้เคลื่อนย้ายห่างจากจุดศาลากลางหมู่บ้านประมาณ 20 เมตร

โดย นางนิล (สงวนนามสกุล) อายุ 69 ปี ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ คนขุดเจอโกลเด้นบอยเปิดเผยว่า เมื่อปี 2517 หรือประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ตนกับสามีไปหาขุดมันตามธรรมชาติบริเวณนั้น ปรากฏว่าไปขุดเจอวัตถุประหลาดเป็นท่อนขาสีดำคล้ำ พอค่อย ๆ ขุดไปเรื่อย ก็พบรูปหล่อคล้ายพระพุทธรูป จึงไปเรียกญาติมาช่วยขุดจนเจอส่วนต่าง ๆ จนครบ พบว่ารูปหล่อมีความสูงประมาณ 150 เซนติเมตร พอล้างทำความสะอาด เห็นมีแสงพุ่งออกมาเหมือนเป็นสิ่งมีค่า ต้องจุดธูปไม่ให้แสงออกมาอีก

หลังจากนั้นได้ไปปรึกษาตำรวจท่านหนึ่งอยู่ สภ.ลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เพื่อต้องการหาที่ขาย ฝ่ายนายตำรวจพาตนไปที่กรุงเทพฯ ประกาศขายให้ชาวต่างชาติในราคา 1,600,000 บาท แต่ชาวต่างชาติต่อเหลือ 1,200,000 บาท จึงตกลงซื้อขายกัน แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าเงินจำนวนนั้น เอาไปแบ่งกันอย่างไร และทำไมถึงไม่มีเงินในเวลานี้

ขณะที่ น.ส.นัฐพร (สงวนนามสกุล) ลูกสาวของ นางนิล เล่าให้ฟังว่า เท่าที่จำได้บริเวณนี้เป็นป่า เคยไปหาเห็ดมาก่อน เคยเห็นเป็นคล้ายปราสาท แต่ไม่ได้สนใจ แต่สิ่งที่แม่เล่าให้ฟังหลังจากมาเห็นภาพโกลเด้นบอยแล้ว แม่บอกว่า “เสียหายและเสียใจ” เพราะโกลเด้นบอยที่จะส่งคืนมา เหลือเพียงร่าง ส่วนที่ตัวเองจำได้แม่นที่ติดตัวโกลเด้นบอล มี 1.มงกุฎเพชร 2.ลูกตาเพชร 3.สร้องสังวาลเพชรนิล 4. กำไลแขนเป็นเพชร 5.เข้มขัดเป็นเพชรและนิล ซึ่งตอนนี้ไม่เหลือแล้ว.