สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ว่ากองกำลังอาระกัน ( เอเอ ) ออกแถลงการณ์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อ้างการยึดฐานประจำการทุกแห่งของกองทัพเมียนมา ในเมืองบุติด่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองท่า และตั้งอยู่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา อย่างไรก็ตาม เอเอยืนยันว่า การสู้รบกับทหารเมียนมา ในพื้นที่รอบนอกของเมืองบุติด่อง และพื้นที่ใกล้เคียง ยังคงดำเนินอยู่


ทั้งนี้ เมืองบุติด่องตั้งอยู่ห่างจากเมืองสิตตะเว ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐยะไข่ ออกไปทางตอนเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร
แม้กองทัพเมียนมายังคงยึดครองเมืองสิตตะเวไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แต่สูญเสียอิทธิพลเหนือเมืองหลายแห่งที่อยู่โดยรอบ รวมถึงฐานประจำการอีกหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่ตามแนวพรมแดนติดกับบังกลาเทศและอินเดีย


ด้านนายโฟลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ ว่าสถานการณ์สู้รบในรัฐยะะไข่ที่อยู่ทางตะวันตกของเมียนมา มีความรุนแรงขึ้นระหว่างกองทัพเมียนมา กับเอเอ ยังคงอยู่ในระดับรุนแรง และสร้างบรรยากาศตึงเครียด ระหว่างชาวเมียนมากับชาวโรฮีนจาในพื้นที่ด้วย


ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นเรียกร้อง “ประเทศซึ่งมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลทหารเมียนมา และกองกำลังชาติพันธุ์” ร่วมกันปกป้องพลเรือนในรัฐยะไข่ และยับยั้งการประหัตประหารต่อชาวโรฮีนจา

อนึ่ง กองทัพเมียนมาและนักรบเอเอสู้รบกันอย่างดุเดือดต่อเนื่อง ก่อนเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 แม้ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงหยุดยิงร่วมกัน หลังเกิดการยึดอำนาจ แต่สิ้นสุดไปเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว จากการที่กองทัพเมียนมากล่าวหากองกำลังอาระกัน ว่าโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง


ปัจจุบัน การสู้รบเกิดขึ้นในอย่างน้อย 15 จากทั้งหมด 17 เขตในรัฐยะไข่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และทำให้มีผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบระลอกนี้ เพิ่มเป็นมากกว่า 300,000 คน นอกเหนือจากการที่กองทัพเมียนมาเปิดปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2560 ทำให้มีชาวโรฮีนจาลี้ภัยมากกว่า 1 ล้านคน และมีการฟ้องร้องที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ( ไอซีเจ ) หรือศาลโลก ว่ากองทัพเมียนมาละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES