นายชินณวุฒิ วิลยาลัย ผอ.สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีการขุดพบพระพุทธรูปสภาพสมบูรณ์ ในหาดทรายกลางแม่น้ำโขง ในสปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ว่า ตนขออธิบายในฐานะนักโบราณคดี ว่าบริเวณดังกล่าวมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ชัดเจนว่า เป็นสถานที่ตั้งของเมืองเชียงแสน ฝั่งประเทศไทย และเมืองต้นผึ้ง ฝั่งสปป.ลาว ซึ่งทั้งสองเมืองพบแหล่งโบราณคดีประเภทศาสนสถาน เช่น วัด จำนวนมาก แสดงว่าในอดีตตลอดระยะเวลากว่า 500 ปี (พ.ศ.1800 – 2300) นั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าประชาชนในสมัยนั้นที่มีแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อถวายวัด อีกทั้งจากภาพถ่ายโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังพบว่าวัดในพื้นที่เมืองเชียงแสน เช่น วัดเจดีย์หลวง พบพระพุทธรูปโลหะจำนวนมากประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานภายในวิหาร หรือในปัจจุบันก็ยังพบการถวายพระพุทธรูปโลหะที่วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ เช่นกัน ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้มีหลากหลายพุทธลักษณะ เนื่องจากมีการถวายกันตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปี ซึ่งพุทธลักษณะจะเปลี่ยนแปลงไปตามความนิมในแต่ละช่วงเวลา

นายชินณวุฒิ กล่าวต่อไปว่า จากหลักฐานทางโบราณคดี อาจจะทำให้คลายข้อสงสัยได้บ้างว่าพระพุทธรูปโบราณที่มีการขุดพบจำนวนมากในฝั่งลาวครั้งนี้มีความเป็นไปได้ตามหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากประมวลหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวแล้วในความคิดเห็นส่วนตัวก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสเป็นไปได้ ส่วนการจะทราบอายุที่ชัดเจนของพระพุทธรูปที่ขุดพบครั้งนี้ได้ จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดจากองค์จริงและหลักฐานอื่นๆที่พบร่วมกัน เช่น ตัวอักษรบนพระพุทธรูปหรืออิฐ ตัวอาคารวิหาร เจดีย์ หรือ เครื่องใช้ที่หลงเหลืออยู่ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาร่วมกันศึกษา อย่างไรก็ตามกรณีนี้เป็นการค้นพบในลาว ซึ่งกรมมรดกของลาว ได้เข้ามาดูแลพื้นที่นี้อย่างใกล้ชิดแล้ว เราควรติดตามข้อมูลและส่งกำลังใจแก่กัน