กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ สำหรับการขุดพบพระพุทธรูปสภาพสมบูรณ์ ในหาดทรายกลางแม่น้ำโขง ใน สปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมีการคาดว่าอาจจะมีอายุถึงหลักพันปี ในขณะที่อีกกระแส ก็มีการคาดว่ามีอายุไม่ถึงร้อยปี จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมากนั้น

ทั้งนี้ หากเราย้อนกลับไปดูข้อมูลก่อนหน้านี้ จะพบว่าที่บริเวณ “เชียงแสน” นั้น เคยมีการค้นพบพุทธรูปและโบราณวัตถุมาแล้วหลายครั้ง

โดยย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบพระธาตุโบราณ โผล่ขึ้นกลางลำน้ำโขง โดยเป็นการพบที่บริเวณเกาะทรายกลางแม่น้ำโขง ในเขตบ้านดอนสวรรค์ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศ สปป.ลาว ตรงข้ามกับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบว่าเป็นส่วนของกลางองค์พระธาตุขนาดใหญ่ สูงประมาณ 3 เมตร ฐานพระประธานโบราณกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร บริเวณใกล้เคียงยังพบซากต้นไม้ขนาดใหญ่จมอยู่ในกองทราย และพระบูชาสิงห์หนึ่ง 1 องค์ หน้าตัก 9 นิ้ว สิงห์สอง 1 องค์ หน้าตัก 5 นิ้ว สิงห์สาม 6 องค์ หน้าตัก 5 นิ้ว และพระปรกโพธิ์ ซึ่งเป็นพระเครื่องอีก จำนวน 15 องค์ และจากรูปลักษณ์ที่ขุดพบในครั้งนี้ น่าจะเป็นพระสมัยเชียงแสน มีอายุประมาณ 600-700 ปี โดยไม่ใช่ฝีมือช่างหลวง และบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นวัดพระแก้ว ในสมัยอดีตกาล ส่วนองค์พระธาตุที่ขุดพบมีลักษณะคล้ายองค์พระธาตุวัดกู่เต้า ที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลโยนก อ.เชียงแสน

นอกจากนี้ ในบริเวณดังกล่าว ในปี 2556 ยังมีการพบ พระพุทธรูปสำริดพระพุทธปฏิมากร โผล่กลางน้ำโขงอีกด้วย

ถัดมาจากครั้งนั้นอีกหลายปี เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2567 ได้มีการพบพระพุทธรูปที่ริมแม่น้ำโขง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว (สามเหลี่ยมทองคำ) องค์แรกหน้าตัก 44 ซม. องค์ที่ 2 หน้าตัก 88 ซม. มีการคาดการณ์อายุ 1,000 ปี

และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มี 2 องค์ ซึ่งหน้าตักกว้างกว่า 29 นิ้ว โดยองค์แรกมีสภาพสมบูรณ์ไม่เสียหายมาก ส่วนองค์ที่ 2 พระเศียรหักออกไป แต่ยังขุดพบเจอในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ ยังพบพระพุทธรูปขนาดเล็กอีกกว่า 2 องค์ คาดว่ามีหน้าตักกว้างประมาณ 9 นิ้วอีกด้วย..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ล้านนาประเทศ, @World Forum ข่าวสารต่างประเทศ