เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ณ ที่นั้น นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสมบูรณ์ จิตรพัฒนากุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2, พลโท ชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพภาคที่ 1, พลตำรวจโท สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2, พลเรือตรี อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รองศาสตราจารย์วัชรีวรรณ ทองสะอาด ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาในการต่อเรือหลวงช้าง และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง

จากนั้น เสด็จขึ้นเรือหลวงช้าง บริเวณดาดฟ้าหลัก ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือตรี อารยะ สิงหเสมานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ กราบบังคมทูลรายงาน และนาวาเอก ธีรสาร คงมั่น ผู้บังคับการเรือหลวงช้าง กราบบังคมทูลรายงานและขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินรับการถวายความเคารพยิงสลุตหลวง ต่อจากนั้น เสด็จขึ้นแท่นรับการถวายความเคารพการยิงสลุตหลวง ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด เมื่อครบแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณหัวเรือของเรือหลวงช้าง เสด็จขึ้นแท่นพิธี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง แล้วทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ จากนั้น เสด็จเข้าห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องโถงนายทหาร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้บัญชาการทหารเรือ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเรือหลวงช้าง (จำลอง) และผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผู้บังคับการเรือหลวงช้าง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้าง แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว เสด็จเข้าห้องสะพานเดินเรือ ทอดพระเนตรภายในห้องสะพานเดินเรือ ซึ่งเป็นห้องที่ใช้ในการควบคุม และบังคับเรือในการเดินทางปฏิบัติภารกิจ โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัยอย่างครบครัน เพื่อใช้ในการบังคับและอำนวยความสะดวกในการเดินเรือ

แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณหัวเรือ ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ แล้วเสด็จลงจากเรือหลวงช้าง ไปยังพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

กองทัพเรือ ได้จัดจ้างสร้างเรือหลวงช้าง ซึ่งเป็นเรือประเภทเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกเข้ามาประจำการ ตามแนวทางการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อรองรับบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเรือในด้านการป้องกันประเทศ การรักษาผลประโยชน์และเส้นทางคมนาคมของชาติทางทะเล โดยการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชน ในการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ทั้งในทะเลและชายฝั่ง โดยขึ้นระวางเป็นเรือประจำการ สังกัดกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2566 และได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่า “เรือหลวงช้าง” ชื่อย่อว่า “ร.ล.ช้าง” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “H.T.M.S. CHANG” หมายเลขเรือ 792 ขนาดของเรือ มีความกว้าง 28 เมตร ยาว 213 เมตร ความเร็วสูงสุด 25 นอต มีระยะปฏิบัติการกว่า 10,000 ไมล์ทะเล สามารถบรรทุกกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ประมาณ 650 นาย