เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายนาวี ช้างภิรมย์ ผอ.ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและหัวหน้าชุดเหยี่ยวดง ได้รายงานต่อกรมอุททยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า ตามที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้สั่งการชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) และชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 ร่วมส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ดำเนินการตรวจยึดจับกุมผู้ลักลอบครอบครองสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยสถานที่เกิดเหตุ บริเวณห้องประชุมที่ว่าการอำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 1 คน คือนายโยธิน (ขอสงวนนามสกุล) พร้อมตรวจยึดสัตว์ป่าของกลาง ได้แก่ สัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดลูกเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัว สัตว์ป่าควบคุม จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดลูกสิงโต จำนวน 1 ตัว พบเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป) ซึ่งได้มีการแจ้งครอบครองที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควบคุม (สิงโต) กระป๋องสี ไลออน ซู จังหวัดนครปฐม

คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าว กรณีมีการครองครองสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดลูกเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัว โดยไม่มีเอกสารหลักฐานการครอบครองของทางราชการ และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป) และสัตว์ป่าควบคุม ชนิดสิงโต จำนวน 1 ตัว ซึ่งมีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป) ของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควบคุม (สิงโต) กระป๋องสี ไลออน ซู จังหวัดนครปฐม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ดังนี้

นายโยธิน (ขอสงวนนามสกุล) กระทำผิดตามมาตรา 15 ฐาน “ปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) พ้นจากการดูแลของตน” มีโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดมาตรา 17 ฐาน “ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษตามมาตรา 92 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีความผิดฐาน “ครอบครองสัตว์ป่าควบคุม (ลูกสิงโต) โดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควบคุม (สิงโต) กระป๋องสี ไลออน ซู จ.นครปฐม กระทำผิดตามมาตรา 19 วรรคสอง ฐาน “ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการแจ้งการรับแจ้ง ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด (เคลื่อนย้ายลูกสิงโตโดยไม่ได้รับอนุญาต)” มีโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงควบคุมนายโยธินพร้อมตรวจยึดสัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าควบคุม ตามชนิดและจำนวนดังกล่าว นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้พนักงานสอบสวนเรียกเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควบคุม (สิงโต) กระป๋องสี ไลออน ซู จังหวัดนครปฐม มารับทราบข้อกล่าวหาและดำเนินคดีต่อไป

สำหรับสัตว์ป่าของกลาง ขออนุมัติพนักงานสอบสวน รับมอบสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดลูกเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัว ส่งมอบให้ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก (สวนสัตว์บึงฉวาก) และสัตว์ป่าควบคุม ชนิดสิงโต จำนวน 1 ตัว รับฝากไว้ที่ฟาร์มสิงโตขาวบางคล้า หมู่ที่ 5 ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ดูแลและเก็บรักษา จนกว่าคดีถึงที่สิ้นสุดต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำนวนสิงโตแจ้งครอบครอง เดือน พ.ค. 2567 ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มีทั้งสิ้น 291 ตัว ส่วนไลเกอร์ ที่เลี้ยงในประเทศไทย มีจำนวนประมาณ 15 ตัว อยู่ในสวนสัตว์ศรีอยุธยาไลอ้อน จ.พระนครศรีอยุธยา สวนสัตว์หัวหินซาฟารี อ.หัวหิน นายอัศวิน (ฟาร์มสิงโตส่วนตัว) กทม.