เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ American Journal of Case Reports เผยแพร่กรณีศึกษาของฝาแฝดตัวติดกันจากอินโดนีเซียในสภาพที่พบได้ยากมาก เพียงแค่ 1 ใน 2 ล้านรายของเด็กเกิดใหม่ 

ฝาแฝดเพศชายคู่นี้เกิดในปี 2561 โดยมีท่อนล่างของลำตัวติดกัน เด็กทั้งคู่มีขา 3 ข้าง แขนคนละ 2 ข้าง มีอวัยวะเพศและทวารหนักเพียงหนึ่งเดียว นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังใช้อวัยวะภายในร่วมกันคือลำไส้, กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก

ทีมแพทย์ยังเชื่อว่า หนึ่งในเด็กแฝดคู่นี้มีไตที่พัฒนาได้ไม่สมบูรณ์หรือมีภาวะไตฝ่อ ส่วนเด็กแฝดอีกคนหนึ่งมีไตเพียงข้างเดียว

ฝาแฝดในลักษณะนี้เรียกว่า Ischiopagus Tripus หมายถึงมีกระดูกเชิงกรานติดกันหรือใช้ร่วมกัน หลังจากคลอดออกมาแล้ว เด็กทั้งสองไม่สามารถนั่งได้ จำเป็นจะต้องนอนราบอยู่ตลอดเวลา 3 ปีแรกของช่วงชีวิต

ฝาแฝดลำตัวติดกันในลักษณะนี้ เป็นสภาพที่เกิดขึ้นได้ยากมาก โดยมีอัตราการพบเพียง 1 ราย จากเด็กแรกเกิด 50,000-2,000,000 ราย 

ตามทฤษฎีเชื่อว่า แฝดเช่นนี้เกิดจากไข่ในตัวมารดาที่ได้รับการผสมจากอสุจิแล้วเพียงใบเดียว จากนั้นแยกตัวและพัฒนาออกเป็นตัวอ่อนทารก 2 คน แต่กระบวนการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ของตัวอ่อนทั้งสองกลับไม่สมบูรณ์ ทำให้มีอวัยวะบางส่วนติดกันหรือใช้ร่วมกัน

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งสันนิษฐานว่า ฝาแฝดลักษณะนี้เกิดจากตัวอ่อน 2 ร่าง ที่เกิดรวมกันตัวเองในครรภ์มารดาตั้งแต่ช่วงพัฒนาตัวอ่อนในระยะแรก

แนวโน้มการเกิดแฝดตัวติดกันนี้จะเกิดขึ้นกับแฝดเพศหญิงมากกว่าเพศชายราว 3 : 1 และเด็กแฝดลักษณะนี้จำนวน 2 ใน 3 จะมีเด็กเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย หรือเสียชีวิตทั้งคู่ หรือไม่สามารถรอดชีวิตจากการคลอด

พ่อแม่ของแฝดคู่นี้มีลูกอายุมากกว่าอีก 2 คน ซึ่งเป็นเด็กปกติทั่วไป อีกทั้งครอบครัวก็ไม่เคยมีประวัติว่าเคยมีปัญหาทางสุขภาพ แม่ของฝาแฝดก็ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ระหว่างตั้งครรภ์

ทีมวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มีกรณีศึกษาหรือรายงานทางการแพทย์เกี่ยวกับฝาแฝดในลักษณะนี้น้อยมาก ด้านทีมแพทย์ของอินโดนีเซียประเมินว่า 6-11% ของฝาแฝดตัวติดกันจะเป็นแฝดแบบ Ischiopagus หรือมีกระดูกเชิงกรานติดกันหรือใช้ร่วมกัน

ทีมศัลแพทย์ตัดสินใจผ่าตัดขาข้างที่ 3 ซึ่งใช้การไม่ได้ของเด็กทั้งสองออกไป และจัดกระดูกเชิงกรานรวมทั้งกระดูกสะโพกเสียใหม่ให้มีความมั่นคงพอที่จะทำให้เด็กทั้งสองสามารถนั่งเองได้ 

หลังผ่าตัดแล้ว เด็กสามารถลุกนั่งเองได้

ปัจจุบันยังไม่สามารถผ่าแยกลำตัวของเด็กคู่นี้ได้ ทำให้ฝาแฝดอยู่ในสภาพที่มีขาเพียง 2 ข้างกับแขน 4 ข้าง มองดูเหมือน “แมงมุม” เช่นเดียวกับกรณีของฝาแฝดชื่อดัง “คงคา” และ “ยมุนา” ของอินเดีย ซึ่งเป็นแฝดคู่แรกที่ถูกเรียกว่า “ฝาแฝดแมงมุม”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานในปี 2537 จากวารสาร Pediatric Surgery Case Reports ระบุรายละเอียดของทีมแพทย์ในจีน ที่สามารถผ่าตัดแยกตัวฝาแฝดตัวติดกันเพศชายซึ่งมีแขน 2 ข้างและขา 2 ข้างที่ใช้การได้ กับขาอีกข้างหนึ่งที่ใช้การไม่ได้ เด็กทั้งสองยังใช้อวัยวะเพศร่วมกัน มีลูกอัณฑะ 2 ลูก แต่ไม่มีรูทวารหนัก

เด็กทั้งสองเข้ารับการผ่าตัดในปี 2535 ตอนที่พวกเขาอายุได้ 2 ขวบเศษ การผ่าตัดกินเวลายาวนานเกือบ 10 ชม. แต่ประสบผลสำเร็จด้วยดี

ที่มา : dailymail.co.uk

เครดิตภาพ : American Journal of Case Reports