ไม่ได้เป็นเพียงธนาคารที่ให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างโอกาส สานพลัง และร่วมสร้างสังคมไทยที่ยั่งยืน ผ่านพันธกิจหลัก “ธนาคารเพื่อสังคม” (Social Bank) ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์และโครงการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “ธนาคารเพื่อสังคม ที่เป็นผู้นำด้านการส่งเสริมการออม สร้างความมั่นคงให้กับประชาชน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยขับเคลื่อนการสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้า พนักงาน และชุมชน ผ่านพันธกิจหลัก 6 ประการ ตั้งแต่ 1. ส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงตลอดช่วงชีวิต 2. ดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในทุกกระบวนการ 3. สนับสนุนการลงทุนและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 4. ให้บริการทางการเงินครบวงจรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย 5. สนับสนุนแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อลดความเหลื่อมลํ้า แก้ปัญหาความยากจน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจน 6. บริหารจัดการแบบมืออาชีพ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่ดี

“ธนาคารออมสิน เป็นกำลังสำคัญในการดูแลกลุ่มคนฐานรากและบรรเทาปัญหาความยากจน เราดำเนินธุรกิจโดยนำกำไรที่ได้มาเป็นเงินอุดหนุนภารกิจเชิงสังคม ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน ทำให้มีขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือคนได้ ดังนั้นพันธกิจของเรา นอกจากจะช่วยสังคมให้ยั่งยืนแล้ว เราเองก็ต้องยั่งยืนด้วย” วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

วิทัย ระบุว่า ที่ผ่านมา “ธนาคารออมสิน” ได้มีการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในวงกว้าง นับว่าเป็นกำลังสำคัญในการดูแลกลุ่มคนฐานรากในการบรรเทาปัญหาความยากจน เช่น “โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” เป็นโครงการที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยส่งมอบเงินอุดหนุนให้แต่ละทีมเข้าไปช่วยเหลือชุมชน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถยกระดับเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่นให้มีมาตรฐานและความน่าสนใจมากขึ้น
เหล่านี้จะสามารถทำให้ชุมชนเกิดความแข็งแรงในการสร้างรายได้ และส่งผลให้ครัวเรือนอาจไม่ต้องกู้หนี้เพิ่ม กระทั่งธนาคารเองก็จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น และเกิดกำไรมากขึ้น โดยโครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจ ทว่ามีเป้าหมายเพื่อการช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มกำลัง

นอกจากนี้ยังมีโครงการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่ออมสินได้ยื่นมือไปช่วยเหลือสังคมในมิติต่าง ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “การจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์” เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ดอกเบี้ยในตลาดอยู่ที่ 28% และ NPL เพียง 3% ซึ่งถือว่าส่วนต่างสูงเกินจริง เนื่องจากปกติแล้ว หากดอกเบี้ย 28% NPL ควรจะต้องอยู่ที่ประมาณ 15-20% โดยสิ่งที่ออมสินเข้าไปแก้ไขในส่วนนี้คือการตั้งเป้าลดดอกเบี้ย 10% พร้อมออกสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์และรับรีไฟแนนซ์ เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนในการเสริมสภาพคล่องสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมี “โครงการพัฒนาแบบองค์รวม” (Holistic Area Based) โดยผนึกความร่วมมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์เดินหน้าพัฒนา 5 หมู่บ้านบนยอดดอยเปียงซ้อในพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาแบบองค์รวม ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือชุมชน กว่า 2,500 ครัวเรือน แบบครบวงจร อาทิ จากเดิมที่มีการปลูกกาแฟ ออมสินก็ได้เข้าไปทำโรงคั่วกาแฟให้โดยมีพันธมิตรอย่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเข้ามาดูแลในกระบวนการต่าง ๆ ให้เกิดผลิตภัณฑ์และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน มากไปกว่านั้น ยังส่งเสริมในเรื่องของการออม แก้ไขปัญหาหนี้สิน การสร้างงานสร้างอาชีพ การปรับปรุงระบบไฟฟ้า การดูแลสาธารณสุข การส่งเสริมวงจรอาหารที่ยั่งยืน ตลอดจนในมิติของการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อีกด้วย

อีกทั้งในปีนี้ ธนาคารออมสินยังได้ปักหมุดพื้นที่ในการทำโครงการดังกล่าวไปที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยคุณวิทัยระบุว่า ทางออมสินได้ลงพื้นที่ไปยังเกาะลิบงเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี มีหน่วยงานพัฒนาทางภาคใต้ที่แข็งแกร่ง และเล็งเห็นแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาแบบองค์รวมได้ จึงมีแผนในการเข้าไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกมิติเช่นเดียวกับที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ มีปัญหาที่แตกต่างกัน บริบทและภารกิจที่จะไปช่วยเหลือก็ย่อมต้องต่างกัน ซึ่งจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริงภายใน 1-2 ปี รวมถึงในปัจจุบัน โครงการพัฒนาแบบองค์รวมยังขยายขอบเขตไปยังชุมชนอีกกว่า 18 แห่งทั่วประเทศ โดยพื้นที่ของการทำโครงการจะมีการปรับขนาดให้เล็กลง เพื่อให้สามารถกระจายไปได้หลากหลายภูมิภาคมากขึ้น

ทั้งนี้ธนาคารออมสิน มีความคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ หรือเครือข่ายใดต่าง ๆ จะร่วมกันเข้ามาพัฒนาชุมชนและสังคมในแต่ละพื้นที่ ให้เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อกัน ณ เวลานี้อาจไม่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ทว่าหากยิ่งขยายขอบเขตออกไป จะเป็นการสร้างอิมแพคให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริง

ในด้านของ “ปัญหาความยากจน” และ “ปัญหาหนี้สินครัวเรือน” สองประเด็นดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เปรียบเสมือนวังวนที่กักขังคนไทยไว้ไม่ให้หลุดพ้นจากสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดย “ความยากจน” ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ครัวเรือนไทยจำนวนไม่น้อยต้องดิ้นรนต่อสู้กับรายได้ตํ่า ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สุขภาพ ไปจนถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ ซํ้ายังมี “หนี้สินครัวเรือน” ที่กลายเป็นภาระหนักอึ้งอันกำลังกดทับคุณภาพชีวิตของคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากสถิติหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 90% ของค่า GDP สะท้อนให้เห็นถึงสภาพคล่องทางการเงินที่ยํ่าแย่ หลายครัวเรือนจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ติดกับดักหนี้และยากที่จะหลุดพ้น

“ปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมลํ้าในมิติต่าง ๆ ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รุนแรง และไม่สามารถแก้ไขได้ภายในเวลาอันสั้น ถึงแม้จะทุ่มเทสัพพะกำลังมากเพียงใดก็จำเป็นจะต้องใช้เวลา ฉะนั้น ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกัน ตั้งแต่รัฐบาล หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ธนาคาร ประชาชน สังคม ต้องช่วยกันหมด ซึ่ง ณ ขณะนี้ สิ่งที่สามารถทำได้ก็คงจะเป็นเชิงบรรเทาปัญหาเสียมากกว่า” วิทัย กล่าวทิ้งท้าย.