เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินชื่อ “ตะวัน ทะลุวัง” หรือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ซึ่งปัจจุบันได้ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมอิสระ โดยไม่มีสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มักจะจัดกิจกรรมชูป้ายและทำโพลเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมต่าง ๆ

ชีวิตก่อนเริ่มเป็น “นักเคลื่อนไหวทางสังคมอิสระ”
สมัยก่อนในช่วงที่ตะวันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ประเทศไทย เธอเป็นเด็กที่ฉลาดและเรียนเก่ง จนสามารถสอบเทียบวุฒิ ม.ปลายแบบอเมริกันได้ หรือเรียกว่า General Education Development (GED) ซึ่งต้องใช้ผลสอบยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด ที่มหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ แต่ขณะนั้นโชคร้ายเพราะพิษการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ตะวันต้องตัดใจ และต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อกลับมาเรียนออนไลน์แทน 

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้น เพราะตะวันได้เห็นข่าวการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้รู้สึกสนใจเส้นทางการเมือง และเลือกเข้าร่วมการชุมนุมในปี 2563 พร้อมสมัครเป็นการ์ดอาสาสมัครของกลุ่ม We Volunteer (WeVo) ก่อนจะถูกชักชวนเข้ากลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งขณะนั้นตะวันร่วมทำกิจกรรมอย่างจริงจัง โดยยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลในวันครบรอบ 1 ปี ของการอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมักจะออกมาทำโพล

ตกเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 เมื่อไหร่?
4 กุมภาพันธ์ 2567
“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ได้ใช้บริการทางด่วน ปรากฏว่ารถติดเนื่องจากมีขบวนเสด็จ โดยทั้งคู่บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมกับโพสต์คลิปกล้องหน้ารถทำให้วิดีโอดังกล่าวเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม

12 กุมภาพันธ์ 2567
สน.ดินแดง ได้ออกหมายเรียกให้ตะวันและแฟรงค์ ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ

14 กุมภาพันธ์ 2567
ตะวันประท้วงด้วยการอดอาหารและน้ำดื่ม พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อ
1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง
3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค. 2567 เป็นเวลานานกว่า 91 วัน ที่ตะวันเลือกอดอาหารและน้ำดื่ม เพื่อประท้วงเรียกร้อง 3 ข้อ ก่อนที่จะมีรายงานล่าสุดว่า เวลา 13.00 น. ตะวันถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เนื่องจากประสบกับภาวะสูญเสียเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง และสภาพร่างกายจากการอดอาหารประท้วงของตะวัน ก็อยู่ในระดับเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต…